หน้าแรก | เกี่ยวกับบริษัท | ติดต่อเรา

 
 
โรคเบาหวาน เป็นโรคที่รู้จักกันทั่วไปในหมู่คนทั่วไป แต่บ่อยครั้งที่หลายคนยังไม่ทราบถึงอันตรายของโรคเบาหวานที่มีต่อสุขภาพของผู้ป่วยในหลายแง่มุม โดยสามารถที่จะมีผลต่อคุณภาพชีวิตได้แก่ การเสียความรู้สึกของเส้นประสาททำให้ต้องมีการตัดขา หรือการมีผลต่อการมองเห็น และการทำให้เกิดภาวะไตวาย นอกจากนี้ยังทำให้เกิดภาวะทุพพลภาพอย่างรุนแรง เช่น การเกิดโรคอัมพาตหรือโรคหัวใจ ซึ่งในปัจจุบันเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดของสาเหตุการตายในผู้ป่วยเบาหวานโดยประมาณการได้ว่าผู้ป่วยเบาหวาน 2 ใน 3 รายจะเสียชีวิตจากโรคหัวใจ ซึ่งผู้ป่วยโรคเบาหวานจะมีโอกาสการเกิดโรคหัวใจหรืออัมพาตได้มากกว่าคนที่ไม่เป็นโรคเบาหวานอย่างน้อย 2 เท่า และจะเกิดขึ้นในอายุที่น้อยกว่าด้วย นอกจากนี้โรคเบาหวานยังทำให้ผู้หญิงในวัยที่ยังมีประจำเดือนอยู่ ซึ่งปรกติแล้วมีโอกาสเกิดโรคหัวใจน้อยกว่าผู้ชาย มีโอกาสเกิดโรคเบาหวานได้เพิ่มขึ้นถึง 4 เท่าตัวทีเดียว การเกิดโรคแทรกซ้อนดังกล่าวข้างต้น เป็นผลมาจากการเกิดโรคต่อหลอดเลือดทั่วร่างกายจากการที่ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นทำให้หลอดเลือดมีขนาดแคบลงจากการเกาะของคราบไขมันต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคอเลสเตอรอล หรือ ไตรกลีเซอไรด์ภายในผนังหลอดเลือด ทำให้เลือดไหลเวียนได้ช้างลง และมีโอกาสแข็งตัวและเกิดการตีบตันของหลอดเลือดได้
 

อะไรคือปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจในผู้ป่วยเบาหวาน?

            การมีระดับน้ำตาลสูงในเลือดของโรคเบาหวานเองนั้นเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อการเกิดโรคหัวใจในผู้ป่วยเบาหวาน นอกจากนี้ ภาวะอื่นๆ ที่พบได้บ่อยมากในผู้ป่วยเบาหวานได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในกระแสเลือดสูง ได้แก่การมีระดับคอเลสเตอรอล และ ไตรกลีเซอไรด์สูง และการมีระดับไขมันดี (เอช-ดี-แอล คอเลสเตอรอล) ต่ำ และภาวะอ้วนลงพุง (เส้นรอบพุงเกิน 80 ซม หรือ 32 นิ้วในผู้หญิง หรือ เกินกว่า 90 ซม หรือ 36 นิ้วในผู้ชาย) ล้วนเป็นปัจจัยส่งเสริมให้เกิดโรคหัวใจให้มากขึ้นอีกหลายเท่า นอกจากนี้ถ้าผู้ป่วยโรคเบาหวานสูบบุหรี่จะทำให้มีโอกาสการเกิดโรคหัวใจเพิ่มขึ้นอีก 2 เท่าได้ ในกรณีที่มีญาติหรือครอบครัวที่ใกล้ชิดเป็นโรคหัวใจตั้งแต่อายุไม่มาก (ผู้ชายอายุน้อยกว่า 55 ปี หรือ ผู้หญิงอายุน้อยกว่า 65 ปี) ก็จะเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจเพิ่มขึ้นเช่นกัน  
 

โรคหัวใจในผู้ป่วยเบาหวานมีอะไรบ้าง?

            โรคหัวใจที่สำคัญในผู้ป่วยเบาหวานมีอยู่ 2 โรค ได้แก่โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน ทำให้เกิดภาวะหัวใจขาดเลือด และโรคหัวใจวาย การเกิดโรคดังกล่าวเป็นผลเนื่องมาจากหลอดเลือดของผู้ป่วยเบาหวานมีการสะสมของไขมันชนิดต่างๆ ในผนังหลอดเลือด และมีการอักเสบที่บริเวณผนังหลอดเลือด ทำให้มีอาการปริแตกของผนังได้ง่าย เกิดภาวะเลือดออกจากผนังและทำให้มีการอุดตันจากก้อนเลือดได้ เมื่อมีการอุดตันของหลอดเลือดจึงเกิดการตายของกล้ามเนื้อหัวใจ ซึ่งถ้าเกิดขึ้นกับหลอดเลือดขนาดใหญ่ที่ไปเลี้ยงหัวใจ อาจทำให้เกิดภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน หรือ การเต้นของหัวใจที่ผิดปกติทำให้เสียชีวิตได้ทันที ในกรณีที่เกิดการตีบตันอย่างช้าๆ จะทำให้เลือดไปเลี้ยงหัวใจได้น้อยลงเรื่อยๆ ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจไม่สามารถทำงานได้ตามปรกติ คือ ไม่สามารถบีบเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ จึงเกิดภาวะหัวใจโตและหัวใจวายในที่สุด  
  

ผู้ป่วยเบาหวานจะรู้ได้อย่างไรว่ามีโรคหัวใจแล้ว?

            อาการที่สำคัญของการเกิดภาวะหัวใจขาดเลือดคือการเจ็บแน่นหน้าอก โดยอาจจะเกิดหลังจากการออกกำลังกายในช่วงที่ยังเป็นไม่มาก หรือเกิดขึ้นได้แม้อยู่เฉยๆ เมื่อมีการอุดตันมากขึ้น โดยอาการของการแน่นหน้าอกอาจมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วยได้แก่อาการแน่นร้าวขึ้นไปถึงคอ แขนซ้ายหรือลิ้นปี่ ในบางครั้งอาจมีอาการหน้ามืด เวียนศีรษะ เหงื่อออกร่วมด้วย อาการต่างๆ เหล่านี้อาจจะไม่ปรากฏในผู้ป่วยโรคเบาหวานที่เริ่มมีการทำลายของเส้นประสาทรับความรู้สึก เช่นผู้ที่มีอาการชาตามปลายเท้าแล้วเนื่องจากเส้นประสาทรับความรู้สึกจากหัวใจจะเสียไปด้วยเช่นกัน ทำให้มีอาการเหนื่อยๆ หน้ามืด เวียนศีรษะ โดยไม่มีอาการแน่นหน้าอกได้ สำหรับอาการของโรคหัวใจวายได้แก่การเกิดอาการเหนื่อยง่าย โดยจะเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ มีอาการเหนื่อยเวลานอนราบ และอาจมีอาการขาบวมน้ำในเวลาบ่ายๆ เย็นๆ

            โดยทั่วไปแล้วแพทย์ที่ทำการดูแลรักษาโรคเบาหวานจะมีการตรวจคัดกรองโรคหัวใจอยู่สม่ำเสมอไม่ว่าผู้ป่วยจะมีอาการหรือไม่โดยอาจเริ่มจากการตรวจคลื่นหัวใจเป็นการคัดกรองเบื้องต้นโดยไม่ต้องรอให้ผู้ป่วยมีอาการใดๆ
 
 

เราจะป้องกันการเกิดโรคหัวใจได้อย่างไร? 

            การเข้าใจในการเกิดโรคหัวใจและปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่กล่าวมาแล้วข้างต้นจะเป็นหลักการสำคัญในการรักษาและป้องกันโรคหัวใจได้โดยมีหลักการดังต่อไปนี้คือ

            การรับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อหัวใจโดยการเพิ่มปริมาณเส้นใย กากใยอาหารได้แก่ พืช ผัก ผลไม้ (เฉพาะผลไม้ที่มีรสไม่จัด เนื่องจากน้ำตาลจากผลไม้จะมีผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดได้เช่นกัน) การหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมัน (โดยเฉพาะกรดไขมันอิ่มตัว หรือ กรดไขมัน “ทรานส์”) ที่พบได้ในไขมันจากสัตว์ทุกชนิด หนังสัตว์ อาหารทอด เนยเทียม เบเกอรี่ต่างๆ เช่นคุกกี้ ขนมเค๊ก เป็นต้น นอกจากนี้น้ำมันจากพืชบางชนิดได้แก่ น้ำมันปาล์ม และน้ำมันมะพร้าว หรือกะทิ ก็ควรหลีกเลี่ยงเช่นกัน
            การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ โดยออกกำลังอย่างน้อยครั้งละ 30 นาที โดยควรจะออกอย่างน้อย 5 ครั้งต่อสัปดาห์ เช่นการเดินเร็ว หรือการขี่จักรยานโดยควรทำให้ต่อเนื่อง (การลงไปแช่น้ำเฉยๆ  ในสระว่ายน้ำครึ่งชั่วโมง นั้นไม่ถือว่าเป็นการออกกำลังกาย)
            การรักษาน้ำหนักให้คงที่หรือการลดน้ำหนักในผู้ที่มีน้ำหนักเกินก็เป็นสิ่งสำคัญต่อการป้องกันโรคหัวใจเช่นกัน สิ่งที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือการเลิกบุหรี่โดยเด็ดขาดสำหรับผู้ที่สูบบุหรี่อยู่
 
ข้อมูลจาก :
 
 
บริษัท ฟอร์แคร์ จำกัด  252, 254 ถ.ร่มเกล้า มีนบุรี กรุงเทพฯ 10510 โทร 0-2919-4460-2 แฟกซ์ 0-2919-4463 E-mail : info@4care.co.th
Copyright Reserved by 4Care Co.,Ltd.