Revolutionary Press Agency : Online Journal and News Agency for Peace
สำนักสื่อปฏิวัติ  : วารสารข่าวออนไลน์เพื่อสันติภาพ
8 มิ.ย. 2554 กองหน้าประชาชนรุ่นใหม่ อนุสรณ์ สมอ่อน ตอบคำถามคาใจทำไมต้องปฏิวัติประชาธิปไตย? 
 
จดหมายเปิดผนึกถึงนายกอภิสิทธิ์เสนอเปลี่ยนชื่ออนุสาวรีย์สร้างประชาธิปไตย
 
 
โรงเรียนประชาธิปไตยแห่งชาติ
 
ด่วนที่สุด                                                                                        เลขที่ 73/14 ถนนเหมืองทวด
ที่ 1/2552                                                                                      ต.นาสาร อ.บ้านนาสาร
                                                                                                  จ.สุราษฏร์ธานี
                                                                                                  โทร. 087-891 8966
                                                    4   มิถุนายน  2552
 
 
เรื่อง  ขอให้เปลี่ยนชื่ออนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเป็นอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญเพื่อแก้มิจฉาทิฎฐิเป็นสัมมาทิฎฐิ สร้างประชาธิปไตยจากความคิดสู่ระบอบ
เรียน ฯพณฯ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี
สิ่งที่ส่งมาด้วย  หนังสือนายประเสริฐชี้แจง ฉบับที่ 6 ลงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2535
 
             ตามที่นายประเสริฐ ทรัพย์สุนทร อดีตประธานกรรมการบริหารขบวนการประชาธิปไตยแห่งชาติ  ผู้นำทางความคิดด้านลัทธิประชาธิปไตยของประเทศไทย ได้เสนอให้รัฐบาลชวนสร้างประชาธิปไตยด้วยการตั้งรัฐบาลแห่งชาติ แต่รัฐบาลชวนจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติไม่ได้เพราะมีอุปสรรคขัดขวางที่ลึกซึ้งซับซ้อนซ่อนปมเงื่อน คือ “ปัญหาความเห็นผิด” ที่ปิดบังปัญญาอันชอบอยู่ อันมีสาเหตุเกิดจากการตั้งชื่ออนุสาวรีย์ผิดในอดีต คือสร้างอนุสาวรีย์เป็นลักษณะรัฐธรรมนูญแต่กลับตั้งชื่อว่า “อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย” โดยรัฐบาลจอมพลป.พิบูลสงครามซึ่งเป็นรัฐบาลเผด็จการ จึงทำให้เกิดความเห็นผิดตั้งแต่บัดนั้นว่า “รัฐธรรมนูญคือประชาธิปไตย” พัฒนาความเห็นผิดเป็น “รัฐธรรมนูญคือ เครื่องมือสร้างประชาธิปไตย” พัฒนาความเห็นผิดเป็น “ระบอบรัฐธรรมนูญคือระบอบประชาธิปไตย”
                 เมื่อมีความเห็นผิดว่า “ระบอบเผด็จการรัฐสภาเป็นระบอบประชาธิปไตย” เพราะมีรัฐธรรมนูญ มีระบบรัฐสภา มีการเลือกตั้ง จึงมองไม่เห็นว่าจะตั้งรัฐบาลแห่งชาติไปสร้างระบอบประชาธิปไตยทำไม  เพราะมีระบอบประชาธิปไตยอยู่แล้ว และการตั้งรัฐบาลแห่งชาติคือการตั้งรัฐบาลผสมทุกพรรคการเมืองโดยเปลี่ยนระบบย่อยในระบบรัฐสภาจากระบบมีฝ่ายค้านมาเป็นระบบรัฐบาลแห่งชาติคือไม่มีฝ่ายค้าน โดยเข้าใจผิดว่าการมีฝ่าย คือประชาธิปไตย การไม่มีฝ่ายค้านคือเผด็จการเพราะเข้าใจผิดว่าระบบรัฐสภามีเพียงอย่างเดียวคือระบบมีฝ่ายค้าน มองไม่เห็นว่าระบบรัฐบาลแห่งชาติ 2 ระบบย่อยภายในหรือระบบมีฝ่ายค้าน กับระบบรัฐบาลแห่งชาติ เช่น ระบบรัฐสภาในอังกฤษที่มีรัฐบาลแห่งชาติ เช่นรัฐบาลแอสควิช เมื่อพ.ศ. 2459 เรียกว่ารัฐบาลผสม รัฐบาลแมคโดนัลด์ เมื่อพ.ศ. 2474 เรียกว่ารัฐบาลแห่งชาติ และรัฐบาลเชอร์ชิล เมื่อพ.ศ. 2483 เรียกว่ารัฐบาลผสมเป็นต้น
                ดังนั้น นายประเสริฐ ทรัพย์สุนทร อดีตประธานกรรมการบริหารขบวนการประชาธิปไตยแห่งชาติจึงเสนอให้นายชวน หลีกภัย แก้ไขปัญหาความเห็นให้ตกไปเสียก่อน คือแก้จากความเห็นผิดมาเป็นความเห็นถูก โดยปฏิบัติตามหลักพุทธธรรมคือแก้ที่ต้นตอหรือต้นเหตุที่ผิด คือแก้ที่ชื่ออนุสาวรีย์ ตามหนังสือนายประเสริฐ ชี้แจงฉบับที่ 6 ลงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2535 หน้าที่ 16 ว่า “แต่ในปัจจุบัน เจตนารมณ์ประชาธิปไตย มีกำลังเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดแล้ว เช่นมีผู้กล่าวถึงรัชกาลที่ 7 อย่างกว้างขวาง  มีการพูดกันอย่างแพร่หลายถึงการสร้างประชาธิปไตย หรือการสถาปนาการปกครองแบบประชาธิปไตย รวมทั้งคุณชวน หลีกภัย ก็ได้กล่าวไว้ใน “แถลงการณ์ของนายกรัฐมนตรี” เมื่อวันที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีว่า “ขอเชิญชวนพี่น้องชาวไทยทุกคน ได้มีส่วนร่วมในการสร้างประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์(จาก “แนวหน้า” 24 ก.ย.2535) เป็นเครื่องหมายของความเข้มแข็งขึ้นอย่างรวดเร็วของเจตนารมณ์ประชาธิปไตย  แต่เป็นการยากอย่างที่สุดที่จะเอาเจตนารมณ์ประชาธิปไตยไปชนะเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ เพราะเป็นความเข้าใจผิดที่ปลูกฝังกันมาเป็นเวลายาวนาน  และหยั่งรากลึกจนดูไปแล้วเหลือกำลังที่จะถอนออกได้ แต่ก็จะต้องถอนออกให้ได้ มิฉะนั้นแล้วก็จะไม่สามารถแก้ปัญหาประเทศได้
                 มาตรการสำคัญที่สุดประการหนึ่งของการปลูกฝังความเข้าใจผิดก็คือ การสร้างอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญแล้วตั้งชื่อว่าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย  การที่คุณชวนจะสร้างประชาธิปไตยตามที่พูดออกมานั้น ยากนักหนา ขนาดสมเด็จพระปกเกล้ายังสู้ไม่ไหว คุณชวนคงจะทราบดีอยู่แล้วว่าผลีผลามไม่ได้ ต้องถือสุภาษิตว่า “กินข้าวต้มอย่ากระโจมกลาง” การสร้างประชาธิปไตยบ้านเรา โดยเฉพาะสำหรับคุณชวน ต้องเริ่มไปจากมาตรการง่ายๆก่อน และกระผมเห็นว่ามาตรการง่ายๆอันดับแรกของการสร้างประชาธิปไตยสำหรับคุณชวนคือ
                 ออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เปลี่ยนชื่ออนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เป็นอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญ  โดยให้เหตุผลอย่างชัดเจนว่าทำไมต้องเปลี่ยนชื่ออนุสาวรีย์นี้...การแก้ปัญหาประชาธิปไตยก็คือการสร้างประชาธิปไตยตามที่คุณชวนเรียกร้องประชาชนไว้ใน “แถลงการณ์” นั่นเอง ซึ่งประกอบด้วยมาตรการรูปธรรมมากมายตามตัวอย่างที่กระผมได้เสนอไว้บ้างแล้วในคำชี้แจงฉบับก่อนๆและฉบับนี้ เช่น
                 1. ปรับคณะรัฐมนตรีจากรัฐบาลผสม 5 พรรคเป็นรัฐบาลผสมทุกพรรคหรือเกือบทุกพรรค เป็นรัฐบาลสามัคคีธรรมแห่งชาติ
                 2. ถ้าขัดข้องด้วยรัฐธรรมนูญ แทนที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องการอกพรก.ตามข่าว แก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มจำนวนรัฐมนตรี เพื่อให้ทุกพรรคสามารถเป็นรัฐมนตรีได้ทั่วถึง  ตีเสียว่า เมืองไทยมีรัฐมนตรี 50-70 คน ไม่มากมายอะไร
                 3. รัฐบาลสามัคคีธรรมแห่งชาติ แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าซึ่งตกค้างมาจากรัฐบาลคุณอานันท์โดยเฉพาะคือ ปัญหาพรก.นิรโทษกรรมฯ โดยยึดถือหลักนิติธรรมอย่างเคร่งครัดและให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ล้มตายและสูญหาย
                 4. การยึดถือหลักนิติธรรมอย่างเคร่งครัดนั้นรัฐบาลโดยเฉพาะนายกฯจะต้องเผชิญหน้ากับความจริงโดยประกาศว่าพรก.นิรโทษกรรมฯถูกต้อง พร้อมอธิบายให้ประชาชนเข้าใจและปฏิรูปทั่วกัน และที่เคยให้สมญาไว้กับประชาชนในเรื่องนี้ สารภาพผิดและแก้ไข
                 5. รัฐบาลสามัคคีแห่งชาติ นำประชาชนไปสร้างประชาธิปไตยให้สำเร็จตามที่คุณชวนกล่าวไว้ใน “แถลงการณ์”
                 6. รัฐบาลสามัคคีธรรมแห่งชาติ ร่วมมือกับกองทัพสร้างประชาธิปไตย
                 7. แก้ปัญหาเฉพาะหน้าและรายละเอียดทุกปัญหาบนพื้นฐานของการสร้างประชาธิปไตย
                 เหล่านี้ คือตัวอย่างของมาตรการเริ่มแรกในการแก้ปัญหาพื้นฐานของรัฐบาลคุณชวนซึ่งกระผมถือว่าถ้าคุณชวนทำก็เป็นการแสดงปาฏิหาริย์ทีเดียว แต่คงจะเป็นการยากที่จะทำ กระผมจึงเสนอมาตรการง่ายที่สุดก่อน คือออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเปลี่ยนชื่ออนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเป้นอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญ  จากนั้นจึงค่อยๆปฏิบัติมาตรการที่ยากขึ้นเป็นลำดับ ดังนี้ประชาชนก็จะแสดงความชื่นชมรัฐบาลมีผลงาน”
                 แต่รัฐบาลชวนก็มิได้ดำเนินการสร้างประชาธิปไตยที่ง่ายที่สุด คือเปลี่ยนชื่ออนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเป็นอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญ ตามที่นายประเสริฐ ทรัพย์สุนทรเสนอแต่ประการใดทั้งสิ้นจนหมดอายุรัฐบาลชวนลง  แม้รัฐบาลชวนจะกลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้งหนึ่งหลังรัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ พ.ศ. 2540- พ.ศ. 2544 ก็มิได้สร้างประชาธิปไตยเปลี่ยนชื่ออนุสาวรีย์ฯตั้งรัฐบาลแห่งชาติแก้ไขปัญหาชาติทั้งปวง จึงเกิดความวิกฤตล่มจม เมื่อปีพ.ศ. 2540  และเกิดระบอบทักษิณและเกิดความแตกแยกขึ้นภายในชาติอย่างรุนแรง  และเกิดม็อบเสื้อเหลืองและเกิดการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และม็อบเสื้อเหลืองปะทะม็อบเสื้อแดงอีกทั้งการปะทะเสียเลือดเนื้อของประชาชน นี่คือความเสียหายร้ายแรงที่เกิดจากการไม่สร้างประชาธิปไตยดังกล่าวของรัฐบาลชวน โดยพรรคประชาธิปัตย์
                บัดนี้ รัฐบาลอภิสิทธิ์โดยพรรคประชาธิปัตย์ก็ได้ขึ้นปกครองประเทศตั้งแต่ต้นปีพ.ศ. 2552 เป็นต้นมา และได้ประกาศก่อนหน้านั้นหลายครั้งทั้งก่อนการเลือกตั้งทั่วไปครั้งหลังสุดและก่อนการลงมติซาวเสียงผู้ควรดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีประมาณวันที่ 10 กันยายน 2551 ว่าจะตั้งรัฐบาลแห่งชาติ แต่ตั้งแต่บัดนั้นจนถึงบัดนี้ รัฐบาลอภิสิทธ์โดยพรรคประชาธิปัตย์ก็ยังมิได้สร้างประชาธิปไตยด้วยการตั้งรัฐบาลแห่งชาติแต่อย่างใดทั้งสิ้น และยังมีท่าทีปฏิเสธการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติประหนึ่งว่าไม่เคยพูดมาก่อน  ในอดีต พรรคประชาธิปัตย์โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เสนอตั้งรัฐบาลแห่งชาติแต่ฝ่ายรัฐบาลในขณะนั้นไม่ร่วมมือด้วย  แต่หลังจากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นรัฐบาลแล้ว ก็ปฏิเสธจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ ทั้งๆที่ฝ่ายค้านเรียกร้องให้ร่วมกันจัดตั้งรับบาลแห่งชาติดังลั่นไปทั้งประเทศ ในขณะที่สถานการณ์ของประเทศกำลังลื่นไหลจมปลักลงสู่ความวิกฤตหายนะ  ในทุกๆด้านอย่างไม่มีวี่แววจะพลิกสถานการณ์วิกฤตสู่การกอบกู้ชาติ และประชาชนให้หลุดพ้นวิบัติสู่ความเจริญวิวัฒน์พัฒนาเจริญก้าวหน้าได้เลยแม้แต่น้อย  เพราะติดขัดปัญหาความคิด มิจฉาทิฎฐิดังกล่าว ซึ่งยังแก้ไม่ตกตั้งแต่รัฐบาลในอดีตมาจนถึงรัฐบาลอภิสิทธิ์ปัจจุบัน จะทำให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ต้องพังไปเช่นเดียวกับรัฐบาลชวนผู้ออกกฎหมายขายชาติ 11 ฉบับ และประเทศชาติประชาชนก็จะต้องพังตามไปด้วยอย่างไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้อย่างสิ้นเชิง
                ดังนั้น มีทางเดียวเท่านั้นที่รัฐบาลอภิสิทธิ์และประเทศชาติประชาชนจะรอดพ้นความวิบัติหายนะได้คือต้องรีบลงมือตั้งรัฐบาลแห่งชาติสร้างประชาธิปไตยแก้ไขปัญหาชาติและปัญหาประชาชนให้ทันต่อสถานการณ์  แต่ติดขัดปัญหาความเห็นที่ยังแก้ไม่ตก จึงต้องแก้ปัญหาความเห็นให้ตกไปก่อนจึงจะแก้ปัญหาอื่นๆต่อไปได้   โดยออกประกาศคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีเปลี่ยนชื่ออนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเป็นอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญตามข้อเสนอของนายประเสริฐ ทรัพย์สุนทร อดีตกรรมการบริหารขบวนการประชาธิปไตยแห่งชาติดังกล่าวโดยเร็วที่สุด
                การเปลี่ยนแปลงเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 นั้นคณะราษฎรไม่ได้หลอกลวงว่าเปลี่ยนการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตยแต่อย่างใดคงยืนยันว่า “เปลี่ยนแปลงการปกครองของกษัตริย์เหนือกฎหมายมาเป็นการปกครองที่มีกษัตริย์อยู่ใต้กฎหมาย” นายประเสริฐ ทรัพย์สุนทรได้เขียนไว้ในหนังสือนายประเสริฐ ชี้แจงฉบับวันที่ 3 ลงวันที่ 12 สิงหาคม 2535 ว่า...
              “ อย่างไรก็ดี ภายใต้การปกครองของคณะราษฎรนั้น มีอยู่ระยะหนึ่งได้มีการโฆษณาชวนเชื่ออย่างกว้างขวางว่าประเทศไทยเป็นประชาธิปไตย แต่เป็นเพียงการกระทำของปีกหนึ่งในคณะราษฎร นำโดยนายพันเอกหลวงพิบูลสงคราม  ซึ่งได้เข้ากุมอำนาจเด็ดขาดทั้งในพรรคและในรัฐ โดยได้เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2481 ต่อจากนายพันเอกพยาพหลพลพยุหเสนาต่อมาเมื่อชนะสงครามอินโดจีน ฝรั่งเศส เลื่อนยศจากพลตรีเป็นจอมพลและลาออกจากบรรดาศักดิ์ใช้ชื่อเดิมว่าแปลก เรียกย่อว่า จอมพลป.พิบูลสงคราม เป็นผู้นำคู่แข่งกับผู้นำอีกปีกหนึ่งในคณะราษฎรคือหลวงประดิษฐ์มนูญธรรม ซึ่งลาออกจากบรรดาศักดิ์เหมือนกันใช้ชื่อเดิมว่านายปรีดี พนมยงค์
             พอนายพันเอกหลวงพิบูลสงครามได้อำนาจ ก็ลงมือกระชับอำนาจปกครองแบบเผด็จการให้รุนแรงยิ่งขึ้นทั้งๆที่ในสมัยพระยาพหลฯ เป็นนายกฯ การปกครองแบบเผด็จการรัฐสภาก็รุนแรงกว่าการปกครองแบบเผด็จการสมบูรณาญาสิทธิราชอยู่แล้ว  เช่น การตั้งศาลพิเศษห้ามการเคลื่อนไหวของพรรคการเมือง (เลยคณะราษฎรไม่เคลื่อนไหวไปด้วย) ห้ามหลวงบางประเภทไม่ให้เล่นการเมือง ตัดเสรีภาพของหนังสือพิมพ์ เนรเทศบุคคลไปแม่ฮ่องสอน  ซึ่งถือว่าเป็นไซบีเรียเมืองไทย ตรวจจดหมายของชาวบ้าน และติดตามการเคลื่อนไหวของบุคคล เป็นต้น สิ่งเหล่านี้การปกครองแบบเผด็จการสมบูรณาญาสิทธิราชไม่ได้ทำ
            แต่ จอมพลป.กระชับการปกครองแบบเผด็จการรัฐสภาให้รุนแรงขึ้นเพียงใด ก็ยิ่งโฆษณาชวนเชื่อว่าเป็นประชาธิปไตยให้กรรมสิทธิ์กว้างขวางขึ้นเพียงนั้น  โดยนำเอาความเข้าใจเอาเองของคนภายนอกคณะราษฎรที่เข้าใจว่า “ การปกครองของกษัตริย์ใต้กฎหมาย” ตามนโยบายของคณะราษฎรนั้น เป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตย มาโฆษณาเผยแพร่อย่างอึกทึกครึกโครม ทางเอกสารและทางบทเพลงเป็นต้น  ซึ่งเป็นการหลอกลวงไปในตัวด้วย เพราะทำให้ประชาชนเข้าใจกันว่า การปกครองอย่างสมัยจอมพลปงนั่นแหละคือประชาธิปไตย คือเอาการปกครองแบบเผด็จการรัฐสภาของคณะราษฎรมาหลอกว่าเป็นการปกครองแบบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้คนไทยยึดถือกันว่า ถึงมีการปกครองภายหลัง 24 มิถุนายน จะเลวร้ายสักเพียงใดก็เป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตย ถึงขนาดในปัจจุบัน ซึ่งพรรคปกครองต่างๆ จะกลายเป็นพรรคยักษ์พรรคมาร พรรคเปรต พรรคกระสือ พรรคอสูรกายก็เป็นประชาธิปไตย ใครจะบอกว่าไม่ใช่การปกครองระบอบประชาธิปไตย แต่เป็นการปกครองระบอบเผด็จการรัฐสภาก็จะไม่ยอมรับฟัง ถึงที่สุดแล้วก็จะบอกว่าไม่ใช่การปกครองระบอบประชาธิปไตย  แต่เป็นการปกครองระบอบเผด็จการรัฐสภาก็จะไม่ยอมรับฟัง ถึงที่สุดแล้วก็จะบอกว่าเป็นลักษณะพิเศษของประชาธิปไตยเมืองไทย ประชาธิปไตยแบบไทยๆ
            รูปธรรมชัดเจนที่สุดของการหลอกลวงในเวลานั้นก็คือเอารัฐธรรมนูญมาหลอกว่าเป็นประชาธิปไตย ความจริงประชาชนเข้าใจผิดในข้อนี้อยู่ก่อนแล้ว เพราะคนภายนอกคณะทหารบอกว่า การเปลี่ยนแปลงการปกครองให้มีรัฐธรรมนูญ หรือให้พระเจ้าแผ่นดินอยู่ภายใต้กฎหมายคือประชาธิปไตย รัฐบาลจอมพลป.จึงจับข้อนี้ไปใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ โดยสร้างอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญขึ้นที่สี่แยกคอกวัว ถนนราชดำเนินวางศิลาฤกษ์ วันที่ 24 มิถุนายน 2482 สร้างเสร็จทำพิธีเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2483 ประกอบด้วยความหมายเหล่านี้คือ
           ปีก 4 ด้านสูง 24 เมตร หมายถึงวันที่ 24 มิถุนายน
           ปืนใหญ่ 75 กระบอกโดยรอบหมายถึง พ.ศ. 2475
          ตุ๊กตาดุนที่ฐานปีก หมายถึงประวัติการดำเนินการเปลี่ยนแปลงของคณะราษฎร
           พานรัฐธรรมนูญ  ตั้งบนป้อมกลางสูง 3 เมตร หมายถึงเดือนที่ 3 คือเดือนตามศักราชเก่า ซึ่งนับเดือนเมษายนเป็นเดือนที่  1
           พระขรรค์ 6 อัน ประกอบบนประตูรอบป้อมกลางหมายถึงหลัก 6 ประการของคณะราษฎร
          และพร้อมกับทำพิธีเปิดอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญ ได้มีการวางหมุดที่ระลึกการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ณ ลานพระบรมรูปทรงม้า จารึกในหมุดมีข้อความว่า “ ณ ที่นี้ 24 มิถุนายน 2475 เวลาย่ำรุ่ง คณะราษฎรได้เร่งกำเนิดรัฐธรรมนูญเพื่อความเจริญของชาติ” รวมความแล้ว ทุกความหมายรวมลงในจินตภาพของคำเดียวคือ รัฐธรรมนูญ ซึ่งใส่พานตั้งตระหง่านอยู่ตรงกลาง  ผู้คนสัญจรผ่านไปผ่านมา รู้ทันทีว่าอนุสาวรีย์นั้นเป็นอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญ เพราะทุกคนรู้จักรัฐธรรมนูญเป็นอย่างดี  เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่ชาวบ้านได้ยินคำว่ารัฐธรรมนูญ แต่ไม่เคยเห็นรัฐธรรมนูญ  ไม่รู้ว่ารัฐธรรมนูญคืออะไร บางคนบอกว่ารัฐธรรมนูญคือลูกสาวพระยาพหลฯ แต่หลังจากประกอบพระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญอย่างมโหฬาร เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 และส.ส.เชิญรัฐธรรมนูญจำลองไปประดับฐานในต่างจังหวัดทั่วประเทศ ประชาชนจึงได้เห็นภาพรัฐธรรมนูญอย่างทั่วถึง จึงรู้จักและจำได้ว่ารัฐธรรมนูญคือสมุดข่อยตั้งอยู่บนพาน  และมีรูปภาพให้เห็นอยู่ตลอดเวลา  ภาพรัฐธรรมนูญติดตาประชาชนทั้งประเทศก็ว่าได้ พอเห็นก็รู้ทันทีว่าเป็นรัฐธรรมนูญโดยไม่ต้องอธิบาย
            การสร้างอนุสาวรีย์ให้แก่สิ่งที่เป็นรูปธรรมนั้นย่อมสร้างรูปจำลองของสิ่งนั้นๆ และเอาชื่อของสิ่งนั้นๆ มาเป็นชื่อของอนุสาวรีย์ เช่น อนุสาวรีย์พระเจ้าตากสินก็สร้างพระบรมรูปจำลองของพระเจ้าตากสินและเรียกว่าอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช บุคคลย่อมสร้างอนุสาวรีย์ให้แก่สิ่งที่ตนถือว่ามีความสำคัญหรือมีลักษณะพิเศษได้ ไม่ว่าจะเป็นคนหรือสิ่งของ หรือแม้กระทั่งเป็นสัตว์ถ้ามีลักษณะพิเศษก็สร้างอนุสาวรีย์ให้ได้ ตัวอย่างเช่น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างอนุสาวรีย์เป็นส่วนพระองค์ให้แก่ “ย่าเหล” พร้อมพระราชนิพนธ์กินใจจารึกไว้ว่า
           “อนุสาวรีย์นี้เตือนจิต
             ให้กูคิดรำพึงถึงสหาย
             โอ้อาลัยใจจู่อยู่มิวาย
             กูเจ็บคล้ายศรศักดิ์ปักอุรา
             ไม่มีใครมองเห็นหัวอกกู
             เพราะเขาดูมึงเห็นว่าเป็นหมา....”
             ซึ่งใครๆก็เห็นแล้วถึงจะไม่รู้จักชื่อก็รู้ว่าเป็นอนุสาวรีย์ของสุนัข
           คณะราษฎร ถือว่ารัฐธรรมนูญมีความสำคัญเพราะเป็นวัตถุประสงค์ที่ได้กำหนดไว้ตั้งแต่การประชุมครั้งแรกของคณะราษฎร  และตามคำกราบบังคมทูลแด่สมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ว่า “คณะราษฎรไม่ประสงค์จะชิงราชสมบัติแต่อย่างใด ความประสงค์อันยิ่งใหญ่ก็เพื่อที่จะมีธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน” ฉะนั้น รัฐบาลจอมพลป.ในฐานะเป็นปีกหนึ่งของคณะราษฎร จึงสามารถสร้างอนุสาวรีย์ให้แก่รัฐธรรมนูญได้  แม้ว่าดูเหมือนจะไม่มีประเทศไหนในโลกได้สร้างอนุสาวรีย์ให้แก่รัฐธรรมนูญก็ตาม  เพราะว่ารัฐธรรมนูญนั้นไม่ว่าในความหมายโครงสร้างของรัฐ หรือในความหมายกฎหมายหลัก  บ้านเมืองทุกหนทุกแห่ง ทุกยุคทุกสมัย และทุกระบอบการปกครองต่างก็มีด้วยกันทั้งนั้น แต่ข้อสำคัญ เมื่อสร้างอนุสาวรีย์ให้แก่สิ่งรูปธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว  ต้องตั้งชื่ออนุสาวรีย์ให้ตรงกับรูปธรรมนั้น จะไปตั้งชื่อเป็นสิ่งอื่นไม่ได้
            ประชาชนรู้จักรัฐธรรมนูญตั้งแต่ก่อนสร้างอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญ เมื่อได้เห็นอนุสาวรีย์ซึ่งมีสมุดข่อยวางอยู่บนพานตั้งตระหง่านอยู่บนป้อมสูงเด่น ถึงจะไม่มีใครบอกก็รู้ได้ทันทีว่าเป็นอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญ แต่กลับไม่ใช่อนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญ เพราะรัฐบาลจอมพลป.ตั้งชื่อให้ผิดไปจากตัวรัฐธรรมนูญ คือตั้งชื่ออนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญว่า “อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย” เลยทำให้ประชาชนซึ่งโดยทั่วไปยังไม่รู้ว่าประชาธิปไตยคืออะไร จึงได้รู้กันขึ้นว่าประชาธิปไตยคือรัฐธรรมนูญนี่เอง ไม่ว่าการปกครองแบบเผด็จการจะใช้มาตรการเผด็จการเพียงใด ถ้ามีรัฐธรรมนูญก็ถือกันว่าเป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตย แต่ถ้าไม่มีรัฐธรรมนูญก็ถือกันว่าไม่มีประชาธิปไตยหรือเผด็จการ
เวลาใดไม่มีรัฐธรรมนูญจึงเรียกร้องรัฐธรรมนูญกัน เพื่อได้ประชาธิปไตยและเมื่อรู้สึกว่าไม่เป็นประชาธิปไตยทั้งๆที่มีรัฐธรรมนูญก็ไปหาประชาธิปไตยกับรัฐธรรมนูญ ได้ผลเท่ากับคำพังเพยว่า “หาเลือดกับปู” เวลาผ่านชั่วหนึ่งอายุคนแล้วยังถืออย่างนั้นอยู่ เมื่อ 3 เดือนมานี้เอง ทั้งสภาล่างและสภาบน ภายใต้การสนับสนุนของพรรคการเมืองทุกพรรค และองค์การมวลชนเป็นอันมาก  ลงมติเป็นเอกฉันท์ ให้แก่รัฐธรรมนูญ 4 ข้อ เพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์ ถึงคุณอานันท์จะปล่อยไปทั้ง 4 ข้อก็จะมีผลเท่ากับหาเลือดกับปูเหมือนที่เคยทำกันมาแล้วเกือบจะนับครั้งไม่ถ้วนนั่นแหละ
            จึงเห็นได้ว่า การสร้างอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญแล้วตั้งชื่อว่าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ได้ผลชะงักในการหลอกประชาชนว่ารัฐธรรมนูญคือประชาธิปไตย แต่คณะราษฎรไม่ได้หลอกเป็นเพียงการหลอกปีกหนึ่งของคณะราษฎร  และเป็นเพียงการหลอกว่ารัฐธรรมนูญคือประชาธิปไตยเท่านั้น ไม่ใช่การหลอกว่าประเทศไทยมีการปกรองระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นการหลอกที่ร้ายแรงที่สุด ตลอดเวลาที่คณะราษฎรครองอำนาจอยู่ ไม่เคยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญว่าประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย คณะราษฎรคงยึดถือวัตถุประสงค์ของตนตลอดมาว่า การปกครองที่ตนสร้างขึ้นนั้นเป็น “การปกครองที่กษัตริย์อยู่ใต้กฎหมาย” คือใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญซึ่งเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญ หรือการปกครองแบบรัฐธรรมนูญตามที่สมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเรียก และการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญหรือการปกครองแบบรัฐธรรมนูญนี้ก็คือการปกครองแบบเผด็จการรัฐสภาซึ่งสมเด็จพระปกเกล้าฯเรียกว่า “การปกครองเผด็จการทางอ้อมๆ” นั่นเอง และรัฐธรรมนูญของคณะราษฎรไม่เคยบัญญัติว่าประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย
           หลายปีมาแล้วมีคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งกล่าวว่าควรรื้ออนุสาวรีย์ประชาธิปไตยทิ้งเสีย เพราะประเทศไทยในประเทศไทยตายไปแล้ว  กระผมเขียนคัดค้านไปลงหนังสือพิมพ์ ถ้าจำไม่ผิดดูเหมือนว่าจะเป็น “บางกอกไทม์” ของคุณจรูญ กุรานนท์ (เลิกแล้ว) ว่าไม่ต้องรื้อทิ้ง  เพราะนั่นไม่ใช่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แต่เป็นอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญ ประชาธิปไตยไม่เคยเกิดในประเทศไทย (หมายถึงการปกครองแบบประชาธิปไตย Democratic Government) แล้วจะเอาประชาธิปไตยจากที่ไหนมาตาย จะสร้างอนุสาวรีย์ให้แก่สิ่งใดต้องมีสิ่งนั้นก่อน เราไม่สามารถสร้างอนุสาวรีย์ให้แก่สิ่งที่ไม่มี เมืองไทยไม่เคยมีประชาธิปไตยแล้วจะเอาประชาธิปไตยจากที่ไหนมาสร้างอนุสาวรีย์ แต่เรามีรัฐธรรมนูญ จึงสร้างอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญได้ซึ่งก็ดีแล้วนั้นไม่ได้เป็นความผิดของอนุสาวรีย์ ผิดแต่ชื่ออนุสาวรีย์เท่านั้น เปลี่ยนชื่อให้ถูกเสียก็หมดเรื่อง ไม่ต้องรื้อทิ้ง ต่อเมื่อประเทศไทยมีประชาธิปไตยแล้วจึงค่อยสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย บ้านเราจะได้มีทั้งอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญและอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เป็นการสมบูรณ์ดี อย่างน้อยก็ดีกว่าอังกฤษ ซึ่งมีประชาธิปไตยแต่ไม่มีรัฐธรรมนูญ (ซึ่งบันทึกเป็นเล่มสมุด)และสภาสูงของประชาธิปไตยอังกฤษก็เป็นสภาขุนนางสืบตระกูลแต่ประชาธิปไตยของไทยสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงกำหนดสภาสูงเป็นสภาเลือกตั้ง ฉะนั้น ประเทศไทยจึงสามารถเป็นประชาธิปไตยให้ดีกว่าเพื่อน ให้คุ้มกับที่เป็นประชาธิปไตยช้ากว่าเพื่อนได้
             จากหนังสือนายประเสริฐชี้แจงฉบับที่ 5 ลงวันที่ 7 ตุลาคม 2535 ว่า “คำปรารภของรัฐธรรมนูญฉบับพ.ศ. 2517 ระบุไว้ว่า “จึงในวันที่ 13 และ 14 ตุลาคมพุทธศักราช 2516 ได้มีการเรียกร้องให้มีรัฐธรรมนูญโดยเร็วที่สุด นักเรียนนิสิต นักศึกษาประชาชนและหนังสือพิมพ์ได้มีส่วนสำคัญในการแสดงประชามติอันแรงกล้าในเรื่องนี้และในการแสดงประชามติครั้งนั้น ได้มีคนเสียชีวิตและเลือดเนื้อไปเป็นจำนวนมิใช่น้อย และนับว่าเป็นวิกฤตการณ์ทางการเมืองครั้งสำคัญ...ข้อความนี้กล่าวถึงการเรียกร้องรัฐธรรมนูญ อ่านแล้วทำให้เข้าใจว่าวีรชน 14 ตุลาคม นั้นสละชีวิตเพื่อรัฐธรรมนูญเพราะเรียกร้องรัฐธรรมนูญและมาเรียกร้องที่อนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญ  แต่เจตนารมณ์14 ตุลาคม หาใช่เจตนารมณ์รัฐธรรมนูญไม่ หากเป็นเจตนารมณ์ประชาธิปไตย
              ในขณะที่นักศึกษาเริ่มเดินขบวนออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาเรียกร้องอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญ กระผมนึกในใจว่าทำไมจอมพลถนอม กิตติขจรไม่ให้รัฐธรรมนูญเสียและอยากจะบอกกับจอมพลถนอมว่าให้รัฐธรรมนูญเขาไปเสีย เพราะการให้รัฐธรรมนูญนั้นไม่ได้เสียอะไร  เท่ากับให้กระดาษไม่กี่แผ่น และก้อบากจะบอบกับนักศึกษาว่าการได้รัฐธรรมนูญนั้นไม่ได้อะไร เท่ากับได้กระดาษไม่กี่แผ่น แต่มีทางบอกจอมพลถนอม ซึ่งแต่ก่อนกระผมติดต่อได้ทาง พลอ.แสวง เสนาณรงค์ แต่หลังจาก พล อ.กฤษณ์ สีวะรา มาเป็นเลขาธิการคณะปฏิวัติแทนพล อ.แสวง กระผมก็ไม่มีการติดต่อถึงจอมพลถนอมอีกเลย ส่วนทางศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาฯ นั้นกระผมไม่เคยติดต่อ และสภาวการณ์ในขณะนั้นทำให้พวกเขาเข้าใจผิดกระผมอยู่อย่างแรง จนไม่มีทางจะเข้ากันได้ กระผมจึงเพียงแต่คิดว่าถ้าจอมพลถนอมให้รัฐธรรมนูญทันทีและให้ผู้แทนศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาฯ เข้าเป็นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญร่วมกับผู้แทนอาชีพและกิจการอื่นๆ เหตุการณ์ก็น่าจะสงบเรียบร้อยโดยง่าย
             ภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม เมื่อกระผมได้พบกับคุณสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ เลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาในระหว่างเหตุการณ์ กระผมอยากจะพิสูจน์ความเห็นดังกล่าวว่าถูกหรือผิด จึงได้ถามคุณสมบัติว่าถ้าจอมพลถนอมให้รัฐธรรมนูญทันทีและให้ผู้แทนนิสิตนักศึกษาเข้าร่วมร่างรัฐธรรมนูญด้วยศูนย์กลางฯ ไหม ? คุณสมบัติตอบว่าเลิกจึงพิสูจน์ว่า ที่กระผมคิดนั้นถูกแล้ว แล้วก็เกิดความรู้สึกว่าการเสียกระดาษไม่กี่แผ่นที่เรียกว่ารัฐธรรมนูญ ทำให้เกิดเรื่องใหญ่ เป็นความเสียหายร้ายแรง และการได้กระดาษไม่กี่แผ่นที่เรียกว่ารัฐธรรมนูญก็ไม่คุ้มกับชีวิตและทรัพย์สินที่สูญเสีย  เพราะการปกครองระบอบเผด็จการยังอยู่ต่อไป แล้วมันเป็นความผิดของใคร ?
            เป็นความผิดของชื่ออนุสาวรีย์ ที่ไปตั้งชื่ออนุสาวรีย์ธรรมนูญว่า “อนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญ” ทำให้ประชาชนที่อยากได้ประชาธิปไตยไปเรียกร้องรัฐธรรมนูญ และไปเรียกร้องกันที่อนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญ เพราะเข้าใจผิดว่าเมื่อได้รัฐธรรมนูญก็จะได้ประชาธิปไตย จากประสบการณ์ 14 ตุลาคม ให้บทเรียนประชาชนว่า การเรียกร้องรัฐธรรมนูญและได้รัฐธรรมนูญตามที่เรียกร้องแล้ว ก็ไม่ได้ประชาธิปไตย สรุปว่าข้อเรียกร้องกับเจตนารมณ์ขัดแย้งกันจึงล้มเหลว คือ 14 ตุลาคม มีเจตนารมณ์ประชาธิปไตย แต่มีข้อเรียกร้องรัฐธรรมนูญ”
              นี่คือความผิดพลาดปีกหนึ่งของคณะราษฎรคือ รัฐบาลจอมพลป.พิบูลสงครามที่สร้างความเห็นผิดมิจฉาทิฎฐิขึ้นครอบงำคนไทยจนเป็นต้นเหตุแห่งความวิกฤตหายนะของชาติและประชาชนกว่าครึ่งศตวรรษ และพรรคประชาธิปัตย์ได้เริ่มกำหนดไว้เป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2492 ในมาตรา 2ว่า “ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” กลับกลายเป็นการหลอกอย่างร้ายแรงว่า “ระบอบเผด็จการรัฐสภาเป็นระบอบประชาธิปไตย” ต่อจากมาตรการหลอกของรัฐบาลจอมพลป.พิบูลสงคราม
              ดังนั้น รัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะจะต้องแก้ปมเงื่อนปัญหาทางประวัติศาสตร์ที่ขัดขวางการสร้างประชาธิปไตย ที่ปีกหนึ่งของคณะราษฎรคือจอมพลป.สร้างไว้ในอดีต และพรรคประชาธิปัตย์ได้ผลักดันให้บัญญัติในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2492 มาตรา 2 “ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข”  ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ไม่หลอกลวงก็จะต้องสร้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยในการปกครองให้สำเร็จปรากฏเป็นจริงต่อจากการเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ ด้วยมาตรการดังนี้คือ
             1.แก้ปัญหาความคิดผิดโดยการออกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีเปลี่ยนชื่อนุสาวรีย์จาก “อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเป็นอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญ” เช่นเดียวกับวันรัฐธรรมนูญที่ถูกต้อง
             2.สร้างประชาธิปไตยในการปกครองประเทศตามที่เขียนไว้ในกระดาษรัฐธรรมนูญให้ปรากฎเป็นจริงโดยตั้งรัฐบาลแห่งชาติปฏิบัตินโยบายสร้างประชาธิปไตยให้แล้วเสร็จโดยเร็วต่อไปให้ทันต่อสถานการณ์
 
              จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาดำเนินการด่วน
 
                                                                ขอแสดงความนับถืออย่างยิ่ง
 

           (นายวิชาญ ทับซ้อน)                                 (นายมนัส เดชเสน่ห์)
 คณะธรรมยาตรารักษากอบกู้ผืนแผ่นดินไทย        ผู้อำนวยการโรงเรียนประชาธิปไตยแห่งชาติ
      ในกรณีเขาพระวิหาร-มณฑลบูรพา

           (นายจรูญ ชูฟัก)
 เลขาธิการสมัชชาเกษตรกรรายย่อย
 

 

 

ปฏิวัติสันติ

 
สมัคร ยกเลิก
 
 
Revolutionary Press Agency
Online Journal and News Agency for Peace  :  วารสารและข่าวออนไลน์เพื่อสันติภาพ
Copyright © 2024 www.rpathailand.com All Rights Reserved.
ทำเว็บ  ออกแบบเว็บ  Web Design  เว็บสำเร็จรูป  เว็บไซต์สำเร็จรูป