Revolutionary Press Agency : Online Journal and News Agency for Peace
สำนักสื่อปฏิวัติ  : วารสารข่าวออนไลน์เพื่อสันติภาพ
8 มิ.ย. 2554 กองหน้าประชาชนรุ่นใหม่ อนุสรณ์ สมอ่อน ตอบคำถามคาใจทำไมต้องปฏิวัติประชาธิปไตย? 
 
อุปสรรคความสำเร็จการปฏิวัติประชาธิปไตยในประเทศไทย ตอน ๑๔
 
เขียนโดย ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร โพส  ๒๔ ตุลาคม ๒๕๕๒ : ๐๓.๓๕ น.
 
คณะราษฎร-อุปสรรคของความสำเร็จของการปฏิวัติประชาธิปไตยในประเทศไทย
การปฏิวัติประชาชาติของคณะราษฎร (1)
 
 
                      (ต่อจากตอนที่แล้ว)
 
                        
 
              แต่เมื่อคณะราษฎรล้มเหลวโดยสิ้นเชิงในการปฏิวัติประชาธิปไตยแล้ว ก็ต้องเผชิญกับการปฏิวัติประชาชาติอีกครั้งหนึ่งเมื่อญี่ปุ่นบุกไทย พ.ศ. 2484
         
              ตีหนึ่งวันที่ 8 ธันวาคม 2484 ญี่ปุ่นประกาศสงครามกับอังกฤษและอเมริกา ก่อนหน้านั้น 3 ชั่วโมงเอกอัคราชทูตญี่ปุ่นไปขอพบจอมพลป.พิบูลสงครามนายกรัฐมนตรี เพื่อขอเดินทัพผ่านไทย แต่นายกรัฐมนตรีไม่อยู่ และไม่มีใครสั่งการได้คณะรัฐมนตรีขอให้ญี่ปุ่นยับยั้งการเดินทัพผ่านไทยไว้ก่อน แต่ญี่ปุ่นไม่ยอม ยกกองทัพเข้าไทยโดยพลการ จึงได้มีการรบกับญี่ปุ่นตั้งแต่คืนนั้น เช่นที่สงขลา ปัตตานี ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี และอรัญประเทศ ล้มตายเป็นจำนวนมากทั้ง 2 ฝ่าย

             เช้ามืดนายกรัฐมนตรีกลับมา คณะรัฐมนตรีลงมติให้ญี่ปุ่นเดินทัพผ่านได้ ตามสิทธิของประเทศเป็นกลางจะทำได้ตามกฎหมายระหว่างประเทศ และตามประกาศพระบรมราชโองการให้ปฏิบัติความเป็นกลาง พุทธศักราช 2482 พร้อมด้วยแถลงการณ์สำนักงานโฆษณาการ เรื่องสิทธิและหน้าที่ของประเทศและพลเมืองในประเทศที่เป็นกลาง ตลอดจนตามกติกาสัญญาไม่รุกรานกับอังกฤษ ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น พ.ศ. 2483

             พิจารณาจากฐานะทางยุทธศาสตร์ของประเทศไทยขณะนั้น  การที่รัฐบาลของคณะราษฎรอนุญาตให้ญี่ปุ่นเดินทัพผ่าน(Passage) นั้นถูกต้องแล้ว  และถ้าไทยรบกับญี่ปุ่นในขณะนั้น จะมีแต่แหลกลาญอย่างเดียว  แม้แต่มหาอำนาจฝ่ายสัมพันธมิตรยังต้องเป็นฝ่ายรับทางยุทธศาสตร์ และมหาอำนาจฝ่ายอักษะกุมความเป็นฝ่ายรุกทางยุทธศาสตร์ไว้ได้  จึงไม่ต้องพูดถึงประเทศไทยซึ่งกำลังอ่อนกว่าญี่ปุ่นไกลลิบ ฉะนั้น การเป็นฝ่ายรับทางยุทธศาสตร์และทำการถอยทางยุทธศาสตร์ในเบื้องต้นด้วยการอนุญาตให้ญี่ปุ่นเดินทัพผ่านไทย จึงเป็นนโยบายที่ถูกต้องของรัฐบาลคณะราษฎร  ไม่มีเหตุผลที่จะยกขึ้นมาโต้เถียงกันหรือโจมตีกันในปัญหานี้เลย ฉะนั้น การที่รัฐบาลออกคำสั่งให้หยุดการสู้รบ อันเป็นการตรงกันข้ามกับจิตใจของคนไทย  โดยเฉพาะในยามที่ได้รับการปลุกใจ ไว้มากมายแล้วว่าให้สู้ทุกวิถีทางจึงได้รับรู้คำสั่งของรัฐบาลด้วยความเศร้าสลดยิ่ง  แม้แต่ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันรุ่งขึ้น สมาชิกสภาและรัฐมนตรีก็ได้อภิปรายกันด้วยน้ำตานองหน้านั้น จึงเป็นการกระทำที่ถูกต้องของรัฐบาลชุดนั้น

             แต่ญี่ปุ่นไม่ได้หยุดเพียงนั้น เมืองไทยยอมให้เดินทัพผ่านแล้ว ก็จะเอาโน่นเอานี่เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ  และกระทำตนเสมือนเป็นผู้ยึดครองประเทศไทย  เนื่องด้วยความเกลียดชังญี่ปุ่น  โดยเฉพาะเกลียดชังทหารญี่ปุ่นตั้งแต่วันบุกไทยเป็นทุนอยู่แล้ว  เมื่อได้เห็นความเอาเปรียบ ข่มเหง วางอำนาจ และทำตัวเหมือนผู้ยึดครอง ซึ่งตามนิสัยคนไทยแล้วไม่มีใครยอมได้หรือทนได้  ฉะนั้น คนไทยทั้งชาติจึงต่อต้านญี่ปุ่นพร้อมเพรียงกันโดยไม่ต้องนัดหมาย  ในฐานะที่ผมอยู่ในเหตุการณ์ครั้งนั้นคนหนึ่ง  และรู้ตื้นลึกหนาบางในการปกครองพอสมควรเพราะอยู่วงในคนหนึ่งด้วย  ผมจึงไม่เห็นว่ามีคนไทยคนใดคนหนึ่งไม่ต่อต้านญี่ปุ่น  คนไทยในประเทศก็ต่อต้านญี่ปุ่น  คนไทยนอกประเทศก็ต่อต้านญี่ปุ่น คนไทยสามัญชนก็ต่อต้านญี่ปุ่น คนไทยเจ้านายก็ต่อต้านญี่ปุ่น  คนไทยฝ่ายคณะราษฎรก็ต่อต้านญี่ปุ่น คนไทยกบฏต่อรัฐบาลคณะราษฎรก็ต่อต้านญี่ปุ่น  คนไทยจนก็ต่อต้านญี่ปุ่น คนไทยรวยก็ต่อต้านญี่ปุ่น คนไทยในคณะรัฐมนตรีที่ไม่เห็นด้วยกับการประกาศสงครามก็ต่อต้านญี่ปุ่น

            คณะราษฎรเวลานั้นมีคนสำคัญ 2 คนคือ อาจารย์ปรีดีกับจอมพลป. อาจารย์ปรีดีต่อต้านญี่ปุ่นเห็นกันอยู่แล้ว เมื่อ แต่เมื่อจอมพลป.ให้ผมเข้าร่วมงานในคณะกรรมการชุดใหญ่ ซึ่งประกอบด้วยคณะรัฐมนตรีเกือบทั้งคณะและคนนอกจำนวนหนึ่ง  มีจอมพลป.เป็นประธาน จอมพลป.ก็ได้บอกกับคณะกรรมการนั้นว่าเรามาร่วมกันต่อต้านญี่ปุ่น  ผมเองเนื่องจากสนิทสนมกับจอมพลป.และรัฐมนตรีต่างประเทศ  คือหลวงวิจิตรวาทการ (ซึ่งจะขอเล่าภายหลัง) ได้มีโอกาสรู้ปัญหาต่างๆจากท่านทั้งสองเป็นอันมาก  ฉะนั้น เมื่อมีการต่อต้านญี่ปุ่นของคนไทยทั้งชาติแล้ว เห็นว่าในบรรดาผู้นำต่อต้านญี่ปุ่นมากฝ่ายหลายส่วนนั้น  ผมมองเห็นในขณะนั้นว่ามีความมุ่งหมายทั่วไปตรงกันทั้งสิ้น ความแตกต่างอยู่ที่วิธีการ หรือถ้าพูดตามภาษายุทธศาสตร์ ก็ว่ายุทธศาสตร์ทั่วไปตรงกัน  ยุทธวิธีต่างกัน  แม้แต่การประกาศสงครามจอมพลป. ก็ให้เหตุผลว่าเป็นยุทธวิธี ความแตกต่างในยุทธวิธีของแต่ละฝ่ายที่ต่อต้านญี่ปุ่น เป็นเรื่องที่เราจะต้องศึกษากันให้ดีต่อไป  โดยนัยนี้ผมจึงไม่เห็นด้วยกับคำกล่าวของคนบางคนว่า บุคคลผู้นั้นผู้นี้เป็น ควิสลิงเมืองไทย ผมเห็นว่าควิสลิงเมืองไทยไม่มี มีแต่ผู้ต่อต้านญี่ปุ่น

            แต่ถึงแม้ว่าผู้ต่อต้านญี่ปุ่นจะประกอบด้วยคนไทยทั้งชาติ แต่เราจะต้องจำแนกผู้นำกับมวลชน และผู้นำเป็นผู้กำหนดแนวทางต่อต้านญี่ปุ่น  โดยเฉพาะกำหนดยุทธศาสตร์และยุทธวิธีต่อต้านญี่ปุ่น ที่ว่าในด้านยุทธศาสตร์ตรงกันนั้น หมายความถึงยุทธศาสตร์ทั่วไป แต่ยุทธศาสตร์รูปธรรมก็แตกต่างกัน ซึ่งยิ่งทำให้ยุทธวิธีแตกต่างกันมากขึ้น

             เนื่องจากบรรดาผู้นำต่อต้านญี่ปุ่นของฝ่ายต่างๆ และส่วนต่างๆ มีความสำคัญดังกล่าวมา ฉะนั้นจึงต้องพิจารณาผู้นำของฝ่ายต่างๆและส่วนต่างๆ ให้ดี เช่นจะต้องพิจารณาบุคคลใดคณะใดมีความสำคัญที่สุด  บุคคลใดคณะใดมีความสำคัญรองๆลงมา  ตลอดจนยุทธศาสตร์รูปธรรมและยุทธวิธีของบุคคลนั้นๆ คณะนั้นๆ

             คณะที่มีความสำคัญมากที่สุดในการต่อต้านญี่ปุ่น ก็คือ คณะราษฎรเพราะว่าคณะราษฎรเป็นพรรคปกครอง (Ruling Party) อยู่ในขณะนั้น รัฐบาลตลอดสมัยต่อต้านญี่ปุ่นเป็นรัฐบาลของคณะราษฎร บุคคลอื่นคณะอื่นถึงแม้จะสำคัญเพียงใด แต่เขาไม่ได้เป็นรัฐบาลอยู่การดำเนินงานต่อต้านญี่ปุ่นจึงมีขอบเขตจำกัด รัฐบาลและพรรคปกครองเท่านั้นที่จำดำเนินงานนี้ได้อย่างไม่มีขอบเขตจำกัด  ฉะนั้น รัฐบาลของคณะราษฎรจึงมีความสำคัญกว่าบุคคลอื่นคณะอื่นในการต่อต้านญี่ปุ่น  ยิ่งกว่านั้น คณะราษฎรยังถือว่าเป็นปฏิวัติประชาธิปไตย หรือคณะอภิวัฒน์ประชาธิปไตยอีกด้วย จึงมีหน้าที่โดยตรงในการต่อต้านญี่ปุ่น อันเป็นการปฏิวัติประชาชาติซึ่งเป็นด้านหนึ่งของการปฏิวัติประชาธิปไตย  เหล่านี้ทำให้รัฐบาลคณะราษฎรมีความสำคัญกว่าบุคคลใดคณะใดทั้งสิ้นในการต่อต้านญี่ปุ่น

             รัฐบาลคณะราษฎรในสมัยต่อต้านญี่ปุ่นมี 2 รัฐบาล คือรัฐบาลจอมพลป.พิบูลสงคราม และรัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ (รัฐบาลก่อนญี่ปุ่นแพ้สงคราม)
 
            ทั้งจอมพลป.และนายควง ต่างก็เป็นผู้นำสำคัญของคณะราษฎร ในบทความชิ้นก่อนๆ ผมเคยยกย่องอาจารย์ปรีดีว่าเป็นผู้นำสำคัญกว่าคนอื่นของคณะราษฎรโดยยกย่องให้ท่านเป็น “ผู้นำที่แท้จริง” ของคณะราษฎร แต่มีผู้ใกล้ชิดของอาจารย์ปรีดีเขียนหนังสือคัดค้าน ซึ่งรู้สึกว่ามิใช่การคัดค้านของผู้เขียนโดยจำเพาะเท่านั้น  หากผู้เขียนคัดค้านแทนคณะบุคคลที่มีความเห็นเช่นนั้นด้วย เขาคัดค้านว่า อาจารย์ปรีดีไม่ใช่ผู้นำที่แท้จริงของคณะราษฎร และว่าผู้นำที่แท้จริงของคณะราษฎรคือ พระยาพหลพลพยุหสเนาฯ และแสดงให้ปรากฏหลายตอนในหนังสือนั้นว่า  นอกจากอาจารย์ปรีดีจะไม่ใช่ผู้นำที่แท้จริงของคณะราษฎรแล้ว ยังไม่มีอิทธิพลมากมายอะไรในคณะราษฎรอีกด้วย  พวกเขาต่อต้านหนักแน่นมาก และพวกเขาเป็นผู้ใกล้ชิดอาจารย์ปรีดี และทรรศนะในหนังสือนั้นแสดงว่าพวกเขาเป็นเสมือนผู้แทนของอาจารย์ปรีดี  ผมจึงพิจารณาเห็นว่า ไม่ควรโต้แย้งพวกเขา แต่ควรจำนนต่อพวกเขา ทั้งที่ในส่วนลึกในจิตใจไม่ใคร่จะเชื่อพวกเขาว่าอาจารย์ปรีดีไม่ใช่ผู้นำที่แท้จริงของคณะราษฎร 
             ฉะนั้นเมื่ออาจารย์ปรีดีไม่ใช่ผู้นำที่แท้จริงของคณะราษฎรและไม่มีอิทธิพลมากมายอะไร อาจารย์ปรีดีจึงเป็นเพียงผู้นำธรรมดาๆคนอื่นของคณะนั้น อาจารย์ปรีดีจึงไม่ต้องรับผิดชอบอะไรมาก และไม่อยู่ในฐานะหมอที่รักษาไข้ให้หายตามที่ผมเขียนไว้  เมื่อเป็นเช่นนี้อาจารย์ปรีดีก็ไม่มีความสำคัญมากมายที่ผมจะต้องกล่าวถึงโดยจำเพาะ  ที่จริงผมก็ไม่อยากกล่าวถึงโดยจำเพาะอยู่แล้ว การที่ผมพูดถึงอาจารย์ปรีดีโดยจำเพาะก็เพราะ “หลักไท” ถามมา  อยู่ดีๆผมจะไปพูดถึงใครคนใดคนหนึ่งโดยจำเพาะเจาะจงย่อมไม่เหมาะสมอยู่แล้ว  ฉะนั้น เมื่อผมจำเป็นต้องยอมจำนนต่อคำคัดค้านของผู้แทนอาจารย์ปรีดีว่าอาจารย์ปรีดีไม่ใช่ผู้นำที่แท้จริงของคณะราษฎร และไม่มีอิทธิพลมากมายอะไร ผมจึงไม่ต้องกล่าวถึงอาจารย์ปรีดีโดยจำเพาะอีกต่อไป
 
              แต่ปัญหาแนวทางของการปฏิวัติประชาธิปไตย จำเป็นต้องกล่าวถึง ไม่ว่าจะเป็นทางของคณะใด พรรคใด กลุ่มใด หรือบุคคลใดทั้งสิ้น เพราะความสำเร็จหรือล้มเหลวของการปฏิวัติประชาธิปไตย ขึ้นอยู่กับแนวทางว่าถูกหรือผิด ผมต้องพูดถึงแต่เฉพาะปัญหาแนวทางเท่านั้น

              คณะราษฎรมีแนวทางปฏิวัติประชาธิปไตยแนวทางหนึ่ง ซึ่งผิดถูกอย่างไรจะต้องนำมาวิเคราะห์และสรุปเช่นเดียวกับแนวทางปฏิวัติประชาธิปไตยแนวทางอื่น นี่เป็นเงื่อนไขอันจำเป็นที่สุดประการหนึ่งของการที่จะทำการปฏิวัติประชาธิปไตยให้สำเร็จ
 
             ด้วยเหตุผลที่กล่าวมา ผมจึงขอเปลี่ยนชื่อเรื่องจาก “อาจารย์ปรีดี อุปสรรคของความสำเร็จของการปฏิวัติประชาธิปไตยในประเทศไทย” เป็น “คณะราษฎร อุปสรรคของความสำเร็จของการปฏิวัติประชาธิปไตยในประเทศไทย” และก็พอดีกับการที่ “หลักไท” ขอให้ผมเขียนเรื่องการเมืองตั้งแต่การเปลี่ยนแปลง 24 มิถุนายน 2475 จึงเห็นว่า การใช้ชื่อเรื่องใหม่เช่นนี้ เหมาะสม เพราะสาระสำคัญอยู่ที่การวิเคราะห์แนวทางของคณะราษฎรทั้งแนวทางปฏิวัติประชาธิปไตยและแนวทางปฏิวัติประชาชาติ แต่ผมขอพูดถึงแนวทางปฏิวัติประชาธิปไตยก่อน ก็คือ แนวทางต่อต้านญี่ปุ่นของคณะราษฎรนั่นเอง
 
            แต่การกล่าวถึงปัญหาแนวทาง ก็ย่อมหลีกเลี่ยงไม่พ้นที่จะกล่าวถึงบุคคลที่เกี่ยวข้องในกรณีที่จำเป็นต้องกล่าวถึง ซึ่งมีมากคน รวมทั้งอาจารย์ปรีดีด้วย หากเพียงแต่ผมไม่กล่าวถึงอาจารย์ปรีดีโดยจำเพาะเจาะจง เพราะท่านไม่ใช่ผู้นำที่แท้จริงของคณะราษฎร
 
             ส่วนพระยาพหลฯ ซึ่งหนังสือเล่มนั้นถือว่าเป็นผู้นำที่แท้จริงของคณะราษฎรนั้น  ในสมัยต่อต้านญี่ปุ่น ท่านพ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว  และท่านวางมือจากการเมือง แต่เมื่อเข้ามาเป็นแม่ทัพใหญ่ในปลายสงคราม ท่านก็แก่ชราและเจ็บป่วย ไม่สามารถนำคณะราษฎรได้เต็มที่
 
             ฉะนั้น ผู้นำคนสำคัญที่สุดของคณะราษฎรในสมัยต่อต้านญี่ปุ่น จึงได้แก่บุคคลที่เป็นนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลคณะราษฎรซึ่งมีอยู่ 2 คนคือ จอมพลป.พิบูลสงคราม และนายควง อภัยวงศ์
 
            จอมพล ป.ลาออกเมื่อปลายสงคราม นายควงเป็นนายกรัฐมนตรีต่อมาจนสงครามยุติ ฉะนั้น นายควงจึงเป็นผู้นำคนสำคัญที่สุดของคณะราษฎรในการต่อต้านญี่ปุ่น และเป็นผู้รับผิดชอบที่แท้จริงของคณะราษฎรในการต่อต้านญี่ปุ่น เพราะในเมื่ออาจารย์ปรีดีก็ไม่ใช่ผู้นำที่แท้จริงแล้ว พระยาพหลก็แก่ชราและเจ็บป่วยแล้ว นายควงซึ่งเป็นผู้นำคนหนึ่งของคณะราษฎรและเป็นนายกรัฐมนตรีก็จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบสูงสุดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
  
       
             
 
 
 
 
 
 
 
 

              
 
 
 
               (อ่านต่อตอนหน้า)
 
 
 
 
 
             อ่านย้อนหลัง...
 
 
 
 
 
 
 



Webboard is offline.