Revolutionary Press Agency : Online Journal and News Agency for Peace
สำนักสื่อปฏิวัติ  : วารสารข่าวออนไลน์เพื่อสันติภาพ
8 มิ.ย. 2554 กองหน้าประชาชนรุ่นใหม่ อนุสรณ์ สมอ่อน ตอบคำถามคาใจทำไมต้องปฏิวัติประชาธิปไตย? 
ไทยไตรยางคธรรม ตอน ๑
บทความพิเศษเรื่อง...   
 
สำนักสื่อปฏิวัติ - Revolutionary Press Agency (RPA)
เขียนโดย นางแก้ว โพส  ๑๘ พ.ย.๒๕๕๒: ๑๒.๕๐ น.
เผยแพร่ครั้งแรก ๒๕ เม.ย.๒๕๔๙ 
 
“ ธรรมนูญชีวิต VS การร่างรัฐธรรมนูญที่ไร้ชีวิต – 75 ปีแห่งสัญญาจองจำการยื้อแย่งอำนาจขุดหลุมฝังแนวทางรุนแรง VS การเกิดใหม่ของแนวทางสันติวิธีในขบวนการประชาชน”  
 
  
              
 
              ณ วันที่เขียนบทความนี้เกิดปรากฏการณ์มหกรรมการร่างรัฐธรรมนูญแก้ปัญหาชาติเป็นการยกใหญ่
แต่ดูเหมือนจะเป็นปรากฏการณ์เชิงลบของการปฏิบัติการโดยคณะร่างผ่านองค์การจัดตั้งที่รู้จักกันในนามสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สรน.)   สื่อมวลชนรายงานต่อเนื่องถึงข้อขัดแย้ง ความไม่ลงรอยต่างๆ ของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ราวงานประชาสัมพันธ์ระดับชาติของงานเบื้องหลังการถ่ายทำภาพยนตร์หรือมหรสพโรงหนึ่ง

               นี่คือชีวิตจริง ไม่ใช่นวนิยาย !

               วิกฤตปัญหาการร่างรัฐธรรมนูญก่อตัว บ่มเพาะ ใกล้แตกหัก พังทลายลงทุกที      การตอบโต้ ขัดแย้ง ไม่ลงรอย เกิดจากการขัดผลประโยชน์  การแบ่งเขาแบ่งเรา  การถือตัว ถือดี  และความพยายามสงวนไว้ซึ่งโครงสร้างอำนาจเดิมของพวกตนให้มากที่สุด   กำลังทำลายประเทศชาติให้พังทลายลงโดยคนส่วนน้อยกลุ่มหนึ่งในสังคมที่ถูกครอบแล้วด้วยอวิชชา     การต่อสู้เช่นนี้ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศไม่มีส่วนด้วย แต่ในฐานะผู้นั่งดู ประชาชนเริ่มเห็นภัยวิบัติ หายนะของลัทธิรัฐธรรมนูญอยู่เบื้องหน้า

              นี่คือสิ่งสะท้อนตลอดเวลาว่าลัทธิรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ลัทธิประชาธิปไตย  และคือสิ่งที่ขบวนการประชาธิปไตยใช้ในการอธิบายมาโดยตลอด  
               ปราชญ์เมธีท่านหนึ่งอ.ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร ผู้สืบทอดแนวทางการสร้างประชาธิปไตยพระปกเกล้ารัชกาลที่ 7  เขียนไว้ว่า
    
             “  ในวัฒนธรรมการคิดของเรา  เมื่อมีอะไรเกิดขึ้นมักนึกถึงเฉพาะกรรมที่เป็นปัจเจกบุคคลเท่านั้น  โดยขาดความเข้าใจ “ กรรมของระบบ”  ว่าระบบเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมของบุคคล  และของสถาบันอย่างสำคัญ  เหมือนดังว่าในเรือที่กำลังวิ่งอยู่ในมหาสมุทรบนเรือมีผู้โดยสารหลากหลาย  มีทั้งพระอรหันต์ และโจร ทั้งหมดมีชะตากรรมร่วมกันในระบบคือเรือ  เรือนั้นมีรูรั่ว  คนบนเรือมัวแต่ทุ่มเถียงกันว่าใครธรรมะสูงกว่าใคร  โดยไม่สนใจไปอุดรูรั่วของเรือ   เรือจึงจม  ทำให้ทั้งพระอรหันต์และโจรถึงแก่ความตายด้วยกันทั้งหมด   “

              ในต้นพ.ศ. 2550 อาการ “ วิปลาสทางปัญญา “ ในหมู่นักวิชาการและชนชั้นปกครองในสายรัฐธรรมนูญนิยมบ้านเราหนักข้อกว่านั้น คือไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่ากำลังนั่งอยู่บนเรือ   และกำลังล่องเรือเพื่อจะไปไหน  นอกจากไม่รู้ว่าเรือกำลังจะล่มแล้วยังไม่รู้ว่าจะนั่งเรือไปทำไม หรือไปที่ใด   ถ้าหากว่ารู้แต่แรกก็คงไม่กระโดดขึ้นเรือลำเดียวกันเพื่อตั้งหน้าตั้งตาทะเลาะกันแบบไม่ลืมหูลืมตาราวถูกจิตวิญญาณชั่วร้ายเข้าสิงเช่นนี้  
          
              ทำไมขัดแย้งกันเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ ?

 
             “ คนปัจจุบันจำนวนมากมองชีวิตทุกวงการเป็นการต่อสู้ระหว่างผลประโยชน์ที่ขัดกัน  เกิดเป็นฝ่ายนายจ้างกับลูกจ้าง  รัฐบาลกับราษฎร  คนมีกับคนจน และแม้แต่หญิงกับชาย หรือลูกกับพ่อแม่ เมื่อคนถือเอาทรัพย์และอำนาจเป็นจุดหมายของชีวิต  สังคมก็กลายเป็นสนามต่อสู้ระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัวที่ขัดกัน  เราก็เลยต้องหาจริยธรรมมาปกป้องผลประโยชน์เหล่านั้น   นี่คือ “จริยธรรมเชิงลบ”  กล่าวคือ สังคมยึดหลักผลประโยชน์แบบเห็นแก่ตัว  โดยถือสิทธิของแต่ละคนที่จะแสวงหาความสุข  แล้วเราก็เลยต้องหาจริยธรรมดังเช่น “ สิทธิมนุษยชน” มาคอยกีดกั้นและกันไว้ไม่ให้คนมาเชือดคอหอยกัน  ในระหว่างที่กำลังวิ่งหาความสุขนั้น............หลักธรรมในพระพุทธศาสนาเป็น “จริยธรรมเชิงบวก”  ประโยชน์สุขคือจุดหมาย  หาใช่ทรัพย์และอำนาจไม่  พระพุทธศาสนาถือว่าสังคมเป็นสื่อกลาง  ที่ช่วยให้ทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมกันที่จะพัฒนาตนเอง และเข้าถึงประโยชน์สุขได้มากที่สุด  และนำเอาจริยธรรมมาใช้เพื่อเกื้อหนุนจุดหมายที่กล่าวนี้ “
          
             โชคดีเป็นอย่างยิ่ง  ประเทศไทยมีปราชญ์เมธีทางพุทธและมีหลักพุทธธรรมที่ทำให้เห็นความบกพร่องของวิธีคิดแบบจริยธรรมเชิงลบของตะวันตกจนสามารถวิจารณ์ได้ทะลุปรุโปร่ง     พระพรหมคุณาภรณ์ ธรรมปิฎก  (ป.ปยุตโต) เขียนเรื่องนี้ไว้อย่างหลักแหลม  ในบทนำของหนังสือชื่อ “ ธรรมนูญชีวิต” หรือหนังสือที่มีชื่อเดิมว่า “ คู่มือดำเนินชีวิต”  ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2519  และได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษโดย  Bruce Evans ได้รับการพิมพ์เผยแผ่นับครั้งไม่ถ้วน 

               ทำไมคนจึงมองชีวิตที่ผลประโยชน์  คำตอบก็ง่ายๆคือ ได้รับประโยชน์ไม่เท่ากัน  ก็เลยเอาประโยชน์ตนไว้ก่อน  ประโยชน์คนอื่นไว้ทีหลัง มองในมุมของปัจเจกก็คือยังไม่สามารถยังประโยชน์ตนได้จึงไม่สามารถยังประโยชน์คนอื่นได้   มองในแง่มุมของรัฐก็คือการไม่สามารถจัดสรรผลประโยชน์ให้คนส่วนใหญ่ได้เสมอภาคเท่าเทียมกัน        กล่าวโดยสรุปก็คือการจัดสรรประโยชน์เชิง “วัตถุ” ไม่ถ้วนทั่วทุกตัวคน     วัตถุในที่นี้หมายถึงปัจจัยสี่รวมทั้งเหตุปัจจัยอันกำหนดรูปแบบสิทธิและการคุ้มครองทางกฎหมายที่จะได้มาซึ่งปัจจัยสี่นั้น   เมื่อสังคมวัตถุพัฒนาสุดโต่ง  สังคมเปลี่ยวเหงา เกิดความต้องการปัจจัยที่ห้าหรือหกตามมา   การจัดสรรผลประโยชน์ยิ่งยากขึ้นตามสภาพสังคมอันสลับซับซ้อน  และเมื่อไม่สามารถสนองต่อความต้องการของปัจเจกชนได้  การเรียกร้องสิทธิ์  หาความเสมอภาค  จึงก่อตัวเป็นคลื่นกระทบฝั่งไม่มีที่สิ้นสุด  จากการเรียกร้องสิทธิทางวัตถุก็เริ่มเป็นเรียกร้องทางกฎหมาย   ให้กฎหมายคุ้มครอง รองรับซึ่งความต้องการนั้นๆ 

               จะสังเกตเห็นว่า สังคมตะวันตกเริ่มเรียกร้องสิ่งที่เป็นนามธรรม สำแดงการ “มี” และการ “เป็น” ตัวตนมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นการเรียกร้องสิทธิ์แต่งงานของเกย์   การร้องหาความเสมอภาคสิทธิสตรี ฯลฯ    ซึ่งเป็นการเรียกร้องถึงสิ่งที่ขาดหายไปทางอารมณ์และความรู้สึกของมนุษย์ทั้งสิ้น (แต่ยังไม่เคยมีการเรียกร้องหาความเท่าเทียมกันทางจิตวิญญาณ )    เกิดองค์การจัดตั้งเรื่องสิทธิมนุษยชนเพื่อเรียกร้องสิทธิ์ในระดับนานาชาติขึ้น  เป็นการสร้างความเสมอภาคแบบดาหน้า  
 
              ไม่น่าแปลกใจที่เกิดการทะเลาะเบาะแว้งกันของนักรัฐธรรมนูญนิยมบ้านเราที่ไม่ยอมทำความเข้าใจว่า  วิชากฎหมายที่ร่ำเรียนมาจากตะวันตกนั้น  ไม่มีวันสอดคล้องกับสังคมไทย  ไม่ว่าจะพยายามเขียนร่างสักเพียงใด  การขัดกันทางทฤษฎีเชิงโครงสร้าง  การถกปัญหาเรื่องการคัดสรรกรรมการ  การตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ  ล้วนแล้วแต่เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุทั้งสิ้น
         
                “ กฎวัฒนธรรมใหญ่กว่ากฎหมายเสมอ” ปราชญ์ราชบัณฑิต กล่าวไว้  ข้อนี้เห็นได้ชัด
   
             หลักคิดของรัฐธรรมนูญตามหลักประชาธิปไตยแบบตะวันตกที่ก่อรูปขึ้นตามระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมตามกลไกสังคมอันซับซ้อนขึ้นหลังการพัฒนาอุตสาหกรรม  จึงเป็น “ ประชาธิปไตยแบบวัตถุ “   พัฒนามาจากหลักสิทธิประโยชน์ที่พระเจ้าประทานมา     ซึ่งไม่ใช่หลักคิดพื้นฐานของคนไทยมาแต่อดีต     หากเข้าใจและยอมรับข้อเท็จจริงอันนี้จึงจะยอมรับอย่างปราศจากอคติได้ว่า นักกฎหมายประเทศไทยไม่ว่าจะอ้างตำรา ฝรั่งเศส อังกฤษ หรืออเมริกา ล้วนแล้วแต่ไม่รู้จัก รากเหง้าแห่งปัญหาของแก่นแท้ความเป็นมนุษย์  (Human Essence) ของตนเองทั้งสิ้น

               ในเมื่อวัฒนธรรมไทยมิได้พัฒนามาจาก “วัตถุ” การร่างกฎหมาย เพื่อบังคับใช้ของชนชั้นปกครองไทยที่ขัดแย้งกับสภาพความเป็นจริงทางวัฒนธรรม  จึงกลับกลายเป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์อันน่าเศร้าปนตลก   ตัวอย่างเช่น  การออกกฎหมายบังคับให้สามีหอมแก้มภรรยาก่อนออกจากบ้าน  บังคับให้ใส่หมวก การห้ามกินหมาก  ในสมัยการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475  จอมพลป.พิบูล สงคราม ฯลฯ   เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นการล่วงละเมิดกฎวัฒนธรรมของคนไทย    เป็นแนวคิดและวิธีการบังคับขืนใจประชาชน   และเมื่อกลไกอำนาจของผู้ปกครองกลุ่มนี้หมดไป กฎหมายดังกล่าวก็หมดความหมายตามไปด้วย    แต่วัฒนธรรมการกินหมากของชาวไทยก็ยังคงอยู่
              
            ปัญหาประเทศประชาธิปไตยแบบตะวันตกที่แก้ไม่เสร็จ เกิดเพาะเชื้อเนื้อหน่อขึ้นในบรรดานักเรียนนอกแต่โบราณ ที่ข้ามน้ำข้ามทะเลไปเรียนวิชากฎหมายมาจากฝรั่งเศส    ความพยายามเปลี่ยนแปลงประเทศตามรูปแบบประชาธิปไตย “ เขา  “ แต่มิใช่แบบ “ เรา “  นับแต่คณะราษฎร  และสืบทอดต่อเนื่องมายังนักกฎหมายมีชั้นเชิงชุดปัจจุบันที่คมช.และรัฐบาลชุดปัจจุบันภายใต้การนำของพล.อ สุรยุทธ์ กำลังเผชิญอยู่
 
 
 
                75ปี ของสัญญาจองจำการยื้อแย่งอำนาจวิบัติแห่งวิปลาสทั้ง 4
 
                พุทธศาสนาอธิบายกระบวนการของผู้ที่จะไม่บรรลุธรรมไว้ 4 ลักษณะ คือสัญญาวิปลาส จิตวิปลาส ทิษฐิวิปลาส ๔ ประการ  เห็นว่ามีตัวตน เห็นว่างาม เห็นว่าไม่เที่ยง เห็นว่ามีสุขมีทุกข์ 
                
              เช่นเดียวกับการพยายามทำความเข้าใจถึงวิกฤตการร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้   มีความสำคัญผิดว่ารัฐธรรมนูญเป็นของเที่ยง เห็นว่ารัฐธรรมนูญบันดาลสุขได้  เห็นรัฐธรรมนูญเป็นสรณะ (มีตัวมีตน) เห็นว่าสูงส่ง (งาม)  เห็นว่าศักดิ์สิทธิ์  ฯลฯ   ซึ่งเกิดจากอาการวิปลาส ทั้ง4   แต่ถ้าหากได้ศึกษาประวัติศาสตร์ชาติสยามอีกแง่มุมหนึ่งก็จะพบว่า  ความศักดิ์สิทธิ์แท้จริงไม่ใช่รัฐธรรมนูญแต่เป็นสถาบันพระมหากษัตริย์ที่มีอยู่จริง      แต่รัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นมา  การยึดมั่นถือมั่นว่ารัฐธรรมนูญมีตัวมีตนจนเกินความพอดี  โดยไม่รู้ว่าที่แท้จริง  รัฐธรรมนูญคือเงาที่อยู่ในน้ำสะท้อนเป็นภาพออกมาให้เห็น    รัฐธรรมนูญกลายเป็นภาพลวงตาที่ไม่มีจริง (Illusion)   

                วิธีการแก้ปัญหาของการร่างรัฐธรรมนูญคือการทำความเข้าใจก่อนว่าจะมีรัฐธรรมนูญเพื่ออะไร   สอดคล้องกับหลักการหรือวิธีคิดแบบไหน อย่างไร  

                ปัญญาจะเกิดขึ้นได้จากการสาวหาเหตุของปัญหาสำเร็จ   การแก้ปัญหาด้วย “สัญญา” แบบเดิมๆ คือสัญญาที่มีระยะเวลาเพียง 75 ปี ยังทันต่อการลบความทรงจำนั้น รัฐธรรมนูญที่ผ่านมาคือสัญญาจองจำวิธีคิด  บดบังปัญญาและการเข้าถึงความจริงแท้ (Reality)ที่ปรากฏอยู่ต่อหน้า  วิธีเดียวที่จะแก้อาการวิปลาส4 นี้ได้ ก็จากสัมมาทิษฐิ (Right Theory)เพื่อให้ภาพลวงตาหายไป (Disillusion)

              แท้จริงแล้วเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับนักประชาธิปไตยที่มองเห็นปัญหานี้แต่ต้น  ผู้รู้จริงวิจารณ์ปรากฏการณ์นี้ไว้ตั้งแต่ปี 2475  คือเมื่อ 75ปีที่แล้วมา มิใช่ใครที่ไหนหากแต่เป็นพระมหากษัตริย์ไทยในอดีต นั่นก็คือ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7  ดังปรากฏในพระราชบันทึกว่า
   
              " ข้าพเจ้าได้พยายามตักเตือนและโต้เถียงกับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญอยู่ตลอดเวลาว่า ควรถือหลัก Democracy อันแท้จึงจะถูก ถ้ามิฉะนั้นจะเกิดทำให้มีความไม่พอใจขึ้นแก่ประชาชน ซึ่งส่วนมากต้องการให้มีการปกครองแบบDemocracy อันแท้ มิฉะนั้นก็เป็นการเสียเวลาและเป็นการเสี่ยงภัยให้แก่ประเทศโดยใช่ที่ ในเวลาที่ฐานะของบ้านเมืองเราอยู่ในขีดคับขันและยากจน.....เมื่อคณะผู้ก่อการได้ประกาศว่า จะขอพระราชทานให้เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นแบบรัฐธรรมนูญนั้น คนไทยที่มีความรู้ย่อมโมทนาทั่วไป แต่เมื่อกลายเป็นยึดอำนาจกันเฉยๆ ไม่ได้ทำให้มีเสรีภาพทางการเมืองมากขึ้น ก็จะกลายเป็นขมขื่นกลืนไม่ลง เพราะผลร้ายของการปกครองแบบ Absolute มิได้เสื่อมคลาย แต่เปลี่ยนตัวเปลี่ยนคณะกันเท่านั้น......"
 
               ทว่าประชาชนชาวไทยไม่ได้รับรู้พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจมากนักเนื่องจากหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง มิถุนายน 2475 เป็นต้นมา  การกลบฝังข้อมูลบางด้านก็เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง  ว่าแท้จริงแล้วลัทธิรัฐธรรมนูญแพร่ขยายในประเทศไทยภายใต้ชื่อประชาธิปไตยอย่างผิดหลักเกณฑ์มานับแต่นั้น

                 คณะราษฎรเมื่อยึดอำนาจจากพระมหากษัตริย์สำเร็จ  ก็ได้หาสิ่งอื่นมาทดแทนพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์  นั่นก็คือกฎหมายรัฐธรรมนูญ  ซึ่งโดยข้อเท็จจริงแล้วกฎหมายรัฐธรรมนูญไม่สามารถทดแทนได้  เพราะวิถีชีวิตของคนไทยผูกพันกับพระมหากษัตริย์มาช้านาน  ความศักดิ์สิทธิ์ (สำเร็จประโยชน์) ของพระมหากษัตริย์ไทยปรากฏชัดและสัมผัสได้จริงทุกยุคสมัย  ความเป็น ” ธรรมราชา “ ของพระภัทรมหาราช รัชกาลปัจจุบันยิ่งสูงส่งทรงพลัง สัมผัสใจของราษฎรทุกหมู่เหล่า  ยิ่งกว่าคติ “ เทวราชา” ที่นักวิชาการสายคอมมิวนิสต์นิยมโจมตีว่าเป็นเพียง “ มายาคติ”   

                กฎหมายรัฐธรรมนูญของคณะราษฎรจึงปราศจากความศักดิ์สิทธิ์โดยสิ้นเชิงนับแต่วันที่เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นต้นมา ถึงแม้ว่าจะพยายามเพียงไรที่จะกลบฝังบทบาทและพระราชประวัติของรัชกาลที่ 7ออกจากระบบความทรงจำของคนไทยแล้ว      ในพ.ศ.นี้ยังกลับกลายเป็นเงื่อนปมปัญหาส่งผลต่อความล่าช้าของการปฏิวัติประชาธิปไตยระหว่างมวลหมู่มหาประชาชนกับพระมหากษัตริย์อีกด้วย   มรดกทางความคิดอันเลวร้ายก็ได้รับการสืบทอดต่อมาจวบจนกลายเป็นประเด็นโต้แย้งของกลุ่มผู้หวัง “โหน” อำนาจอย่างมิรู้เหนื่อย  กล่าวได้โดยประจักษ์ชัดว่ากฎหมายรัฐธรรมนูญ 17 ฉบับในประเทศไทยไม่เคยมีความศักดิ์สิทธิ์ (สำเร็จประโยชน์) เลยแม้แต่น้อย

                ครั้งหนึ่งปราชญ์ราชบัณฑิตเคยศึกษาปัญหาโครงสร้างฟอนเฟะอันเกิดจากโครงสร้างจอมปลอมนี้และเสนอทางออกว่า หากคนไทยเรียนรู้ที่จะใช้พระราชอำนาจในทางที่ถูก ก็จะเห็นเองว่าควรประสานประโยชน์จากพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ไทยอย่างไรหากเข้าใจ “ธรรมราชา” พระราชาผู้ทรงธรรมอย่างถ่องแท้   พระมหากษัตริย์คือตัวแทนแห่งธรรมที่จะทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจทั้งสาม (นิติบัญญัติ บริหารและตุลาการ)

                 แต่คนไทยไม่รู้จักองค์คุณเอกภาพของสถาบันพระมหากษัตริย์   จึงไม่รู้จักใช้กลไกสถาบันอันศักดิ์สิทธิ์นี้เพื่อสร้างความไพบูลย์รุ่งเรืองให้กับประเทศชาติ  มิหนำซ้ำยังประสงค์ร้าย จ้องทำลาย โดยไม่ดูข้อเท็จจริงตามเหตุปัจจัย

                 ในวิถีแห่งปัญญา  ปราชญ์ราชบัณฑิตย่อมไขว่คว้าหาผู้รู้มาช่วยอธิบายปรากฏการณ์ที่น่าเบื่อหน่ายของการทะเลาะเบาะแว้งของคนที่ได้ชื่อว่าเป็นนักปกครอง   การถามย้อนกลับมาเพื่อทำความเข้าใจโครงสร้างความคิดเดิม  และอุดมการณ์เดิมๆ  ของการสร้างรัฐธรรมนูญ อาจเป็นหนทางที่หาคำตอบได้   ในท่ามกลางวิกฤตศรัทธา  กระแสสังคมจึงมุ่งตรงสู่สถาบันพระมหากษัตริย์ในฐานะตัวแทนของคุณความดี  ความชอบธรรม ความเป็นผู้ทรงธรรม เป็นปราชญ์บัณฑิตที่จะกอบกู้หายนะประเทศนี้ได้             และในขณะที่ประชาชนกำลังก้าวเข้าสู่วิถีแห่ง “สัมมา” ปัญญา  แต่ชนชั้นผู้ปกครองและนักวิชาการกำลังก้าวเข้าสู่หุบเหวแห่งความไร้ปัญญา  ปรากฏชัดจากอาการสัญญาวิปลาสของการแก้ปัญหาโดยมีรัฐธรรมนูญ 17 ฉบับเป็นเครื่องจองจำ  
 
 
                     ไทยไตรยางคธรรม.....สู่ประชาธิปไตยแบบไทย
                  
                 คนไทยส่วนใหญ่ไม่มีโอกาสได้รับรู้ว่าในยุคสมัยที่พระพุทธเจ้าหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงปฏิวัติสันติครั้งยิ่งใหญ่ (Great Peaceful Revolution) เพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมด้วยการเลิกทาสนั้น  สยามประเทศร่ำรวยมั่งคั่ง อุดมสมบูรณ์กว่าสหราชอาณาจักรอังกฤษ   ความพยายามเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของพระมหากษัตริย์ไทยที่เริ่มต้นในรัชสมัยของพระองค์มิได้มีเหตุปัจจัยมาจากสภาพความบีบคั้นทางเศรษฐกิจของราษฎรและแตกต่างจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากเงื่อนไขของโครงสร้างทางเศรษฐกิจอันสืบเนื่องจากการพัฒนาสู่สังคมอุตสาหกรรมของชาติตะวันตกราวขาวดำ   การเปลี่ยนแปลงการปกครองด้วยการเลิกทาสในประเทศไทยเป็นไปเพื่อสนองต่อความมั่นคงภายในจิตใจมนุษย์คือให้มนุษย์ด้วยกันรู้สึกมีค่า  มีความมั่นคงในจิตใจ  เป็นการจัดระบบความสัมพันธ์เสียใหม่จากนายทาส ข้าทาส มาสู่การเป็นพสกนิกรโดยยึดหลักความเสมอภาคและหลักเสรีภาพ    มิใช่เงื่อนไขความบีบคั้นทางวัตถุ   และเป็นการกรุยทางสู่การปฏิวัติสูงสุดของมนุษย์คือมนุษยปฏิวัติ (Human Revolution) คือการปฏิวัติทางจิตวิญญาณนั่นเอง

       จึงกล่าวได้ว่ารากฐานของการเปลี่ยนแปลงที่พระพุทธเจ้าหลวงทรงริเริ่มเป็นการเปลี่ยนแปลงจากภายใน (Internal)  มิใช่จากภายนอก (External)  มิใช่เชิงกายภาพ  (Physical) การทำให้ลุถึงการเปลี่ยนแปลงให้เกิดมรรคผลจึงมองเห็นไม่ชัด   และกระทำให้เสร็จสิ้นสมบูรณ์ในระยะเวลาอันจำกัดนั้นเป็นไปไม่ได้  ย่อมต้องใช้เวลาในการปรับฐาน สร้างความรู้ความเข้าใจอย่างยิ่งยวดในหลากหลายมิติ      ระหว่างนั้นในท่ามกลางบรรยากาศการเผชิญหน้ากับภัยจากลัทธิล่าอาณานิคมที่ข่มขู่คุกคามจากภายนอก    เกิดภัยอันตรายภายในขึ้นจากลัทธิรัฐธรรมนูญนิยมที่ก่อตัวขึ้นอย่างเงียบเชียบและสามารถเข้ามาทำลายโครงสร้างภายในได้ในกาลต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้ารัชกาลที่ 7   การปฏิวัติสูงสุดจึงหยุดชะงักลงนับแต่นั้น

                  หากวิเคราะห์ตามหลักอิทัปปัจจัยตา  ตามหลักว่าสิ่งนั้นมี จึงมีสิ่งนี้  เพราะไม่มีสิ่งนั้นในอดีต จึงไม่มีสิ่งนี้ในปัจจุบันและต่อเนื่องถึงอนาคต     การมีอยู่ซึ่งกฎวัฒนธรรมหนึ่งๆ ย่อมต้องการกฎหมายและที่มาของหลักการปกครองที่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงตามกฎของวัฒนธรรมนั้นๆ      ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงใดๆ เพื่อสิ่งใหม่จึงต้องคำนึงถึงสิ่งที่มีมาแต่เดิมอย่างแท้จริง    คณะราษฎรต้องการการเปลี่ยนแปลงสู่สิ่งใหม่แต่เข้าไม่ถึงกฎเกณฑ์แห่งสัจธรรมนี้    จึงทำให้เกิดรอยต่อแห่งความผิดพลาดทางประวัติศาสตร์เกิดขึ้นด้วยการละเลยข้อเท็จจริงที่ว่า  “ ไทยไตรยางคธรรม”  คือสถาบันกษัตริย์ ชาติ ศาสนา อยู่ร่วมกันอย่างสอดประสาน  และเป็นตัวบ่มเพาะวัฒนธรรมและจารีตประเพณี  แตกต่างจากวัฒนธรรม “ กระฎุมพี” หลังการปฏิวัติอุตสาหกรรมของตะวันตกอย่างสิ้นเชิง 

                 “ ความอยากแห่งยุคสมัย” โดยคณะราษฎร ผู้เข้าไม่ถึงกฎเกณฑ์แห่งสัจธรรม  ทำให้ยึดการปฏิวัติสังคมด้วยการสถาปนาลัทธิประชาธิปไตยของชาติตะวันตกเป็นต้นแบบและละเลยความพยายามสถาปนาลัทธิประชาธิปไตยโดยพระมหากษัตริย์ไทยและบทบาทอันสำคัญนับแต่รัชกาลที่ 5จนถึงรัชกาลที่ 7    นอกจากจะเป็นการผิดพลาดทางประวัติศาสตร์อย่างมหันต์    ยังผิดหลักปฏิจจสมุปบาทตามกฎเกณฑ์แห่งธรรมและส่งผลสำแดงฤทธิ์เดชของความผิดพลาดนี้เบ็ดเสร็จในยุคของรัฐบาลฟาสซิสต์ของคุณทักษิณ ชินวัตรนั่นเอง

                  75 ปีผ่านไป กลไกการปกครองเผด็จการรัฐธรรมนูญ ทำให้ชาติไทยกลายเป็นชาติยากจน พร้อมๆกับทิ้งระบบความคิดของลัทธิรัฐธรรมนูญนิยมแบบเดิมๆ และ ปัญหาเดิมค้างคาอยู่โดยมิได้รับการแก้ไข    ระบบความคิดแบบเดิมคือระบบการตั้งค่าสมการชีวิตมนุษย์ไว้เป็นระนาบเดียว  ด้วยการกำหนดศักดิ์และสิทธิ์ของรัฐธรรมนูญหรือธรรมนูญแห่งรัฐให้สูงส่งเกินความจำเป็น  แต่ในข้อเท็จจริงเป็นเพียงซากกระดาษไร้ชีวิตเขียนไว้เหมือนสูตรคณิตศาสตร์ที่ไม่มีวันเข้าถึงมิติอื่นของชีวิตมนุษย์
 
                     การร่างกฎหมายด้วยการละเมิดกฎวัฒนธรรมเดิมจึงมิควรเกิดขึ้นซ้ำซากอีกต่อไป !!
                     การร่างรัฐธรรมนูญอันไร้ชีวิตของ “ ผู้ใหญ่หัวนอก” ทั้งหลายจึงสมควรยุติลง !!
                     การกำหนดธรรมนูญชีวิตอยู่รวมกันโดยประชาชน ปราชญ์ราชบัณฑิตที่เข้าใจเหตุปัจจัยต้องมาก่อน.....เพื่อประโยชน์สุขของมหาชนชาวสยาม !!

 

          
 
 
 
             
 
 
                     (อ่านต่อตอนหน้า)
 

 

 
 


 
   

 


         
 อ่านบทความที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้อง...
  
 
         
  
  
  
  
  
 



Webboard is offline.