ทำสัญญาแฟรนไชส์กันอย่างไร

         ทุกคนที่คิดจะขายแฟรนไชส์ สิ่งแรกที่นึกถึงก็คือ อยากจะได้สัญญาแฟรนไชส์ เพื่อที่จะขายแฟรนไชส์ได้ทันที แต่ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไรและในสัญญาระหว่างกันนั้น ควรพูดถึงเรื่องอะไรกันบ้าง ซึ่งในเรื่องนี้จะมีคำตอบ
 แต่ก่อนอื่น สิ่งที่เราทำผิดกันเสมอก็คือ ความต้องการหาสัญญามาเซ็นต์ก่อน ก่อนที่จะมีระบบแฟรนไชส์เสียอีก ซึ่งที่จริงแล้วสัญญาจะเป็นเรื่องทีหลังสุด ในการเตรียมระบบแฟรนไชส์  คุณควรมีระบบงานแล้ว มีคู่การทำธุรกิจเรียบร้อยแล้ว
 อย่างไรก็ตาม มีผู้ที่ต้องการจะรู้ในเรื่องนี้เป็นจำนวนมากๆจึงให้ข้อแนะนำเป็นไกล์ไลน์  เพื่อให้ผู้กำลังจะทำแฟรนไชส์อยู่ หรือคิดว่าในอนาคต ใช้เป็นแนวทางของสัญญาแฟรนไชส์

วิธีการทำสัญญา
         หน้าที่สัญญา จะเป็นงานของนักกฎหมายทนายความเป็นคนทำ เป็นคนร่าง ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้จะทราบดีกว่า ว่าเรื่องใด ข้อความใดในสัญญา ใช้บังคับตามกฎหมายได้ ข้อสัญญาใดบังคับไม่ได้  และทนายความแต่ละคนก็อาจจะมีประสบการณ์ ในการร่างสัญญาที่ถนัดกันคนละอย่าง ดังนั้นผู้ประกอบการที่ขายแฟรนไชส์ก็จะต้องเป็นผู้ให้แนวทางกับทนายความว่าต้องการให้สัญญาแฟรนไชส์ บังคับใช้ในเรื่องอะไรบ้าง แต่ปัญหาของทุกคนจะตอบเหมือนๆกัน คือ “ไม่ทราบเหมือนกันว่า ควรจะมีเรื่องอะไรอยู่ในสัญญา”
 รูปแบบสัญญาแฟรนไชส์นี้เป็นข้อแนะนำจากทนายความของบริษัท เบเคอร์ แอนด์ แมคแคนซี่ ที่จะนำมาปรับ และพูดถึงทีละประเด็น เพื่อช่วยให้มีความเข้าใจง่ายขึ้น

การให้สิทธ์
         ในการขายแฟรนไชส์ คือการอนุญาตให้ใช้สิทธิ์ต่างๆ ซึ่งก่อนที่คุณจะทำสัญญาเรื่องแฟรนไชส์ คุณจะต้องคิดว่าคุณมีสิทธิ์ หรือทรัพย์สินใดบ้างที่จะต้องให้แก่ผู้ซื้อแฟรนไชส์ไปด้วย เช่น
 -เครื่องหมายการค้า เป็นสิ่งที่แน่นอนที่คุณจะต้องมีข้อผูกพันที่จะต้องกล่าวถึงในสัญญาว่าคุณจะต้องอนุญาตให้ผู้ซื้อแฟรนไชส์ของคุณใช้เครื่องหมายโลโก้ของคุณ แค่ไหนและอย่างไร
 -ไลเซ่นส์ คือสิทธิประโยชน์ที่ใช้เป็นผลในทางการค้าได้ เช่น เครื่องหมายการค้า ข้อมูลการค้า ที่ใช้เพื่อดำเนินธุรกิจนั้น คุณมีอยู่หรือไม่ ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ต้องพูดถึง และอนุญาตให้ใช้ไลเซ่นส์ที่คุณมี
 -ผลิตภัณฑ์ คุณอาจจะมีสินค้าที่ให้ผู้ซื้อของคุณเป็นผู้แทนจำหน่ายด้วย นี่ก็เป็นสิทธิ์อีกอย่างหนึ่งที่คุณจะต้องพูดถึงไว้ในสัญญา ว่าคุณจะให้แฟรนไชซี่ของคุณเป็นตัวแทนขายสินค้าของคุณในระดับใด

การแต่งตั้ง
         คือการกำหนดอาณาเขต ที่คุณจะให้แก่แฟรนไชซี่ของคุณ ที่ในสัญญา ก็จะมีระบุว่า คุณจะอนุญาตให้ผู้ซื้อแฟรนไชส์ได้รับสิทธิการดำเนินธุรกิจ สิทธิใช้ทรัพย์สินทางปัญญา หรือการขายสินค้า ในอาณาเขตใด ภายใต้เงื่อนไขอย่างไร ซึ่งคุณต้องคิดก่อน และกำหนดเอาไว้ในสัญญา

ประเภทของการได้รับสิทธิ์ 
         ผู้ที่ซื้อแฟรนไชส์ของคุณจะได้รับสิทธิ์รูปแบบไหน เป็นสิทธิ์ได้เพียงรายเดียวในประเทศไทย หรือได้สิทธิ์ในภูมิภาค หรือได้สิทธิ์จำกัดแค่ในห้าง เป็นต้น
         ซึ่งในสัญญา ควรจะต้องมีการระบุว่าแฟรนไชส์รายนี้ ได้รับสิทธิ์เพียงผู้เดียวหรือไม่ เช่นในกรณี ที่จะให้สิทธิ์ รายเดียวในภาคเหนือที่คลอบคลุม 10 จังหวัด คือเชียงใหม่,เชียงราย,แม่ฮ่องสอน ฯลฯ จะมีเงื่อนไขต่อไปตามที่จะตกลงกันเช่นไร เช่น ผู้ที่ได้สิทธิ์รายเดียวอาจต้องมีหน้าที่ที่จะต้องดำเนินการจัดจำหน่ายสินค้าและบริการให้ได้ตามข้อที่ตกลงกัน ในระยะเวลาที่กำหนด ก็ยังมีที่ไม่บรรลุวัตถุประสงค์(ทำยอดขายไม่ได้ตามเป้า) ก็จะยกเลิกสัญญาได้ เช่นนี้เป็นต้น

ข้อกำหนดเรื่องการเลือกสถานที่
         โดยส่วนใหญ่แล้ว ธุรกิจแฟรนไชส์บริษัทแม่มักมีส่วนในการช่วยเลือกสถานที่ ดังนั้นในสัญญาอาจจะมีการกำหนดไว้ในเรื่องนี้ว่า บริษัทแม่จะมีส่วนในการช่วยเลือกสถานที่หรือไม่อย่างไร เนื่องจากผู้ขายแฟรนไชส์ที่ดีส่วนมากจะต้องไม่ทำให้ธุรกิจที่ตั้งขึ้นไม่ว่าจะเป็นของบริษัทแม่เอง หรือของบริษัทแฟรนไชซี่ล้มเหลว จึงมักมีความประสงค์ ในการมีส่วนในการเลือกสถานที่ตั้ง เพื่อเพิ่มโอกาสให้ธุรกิจดำเนินกิจการไปได้

การโฆษณาส่งเสริมการขาย
         การโฆษณาเพื่อส่งเสริมการขาย เป็นอันดับหนึ่งที่สำคัญที่มักจะสับสนกันที่ควรจะมีการพูดถึงในสัญญา โดยระบุว่าใครเป็นผู้ที่มีหน้าที่ในการส่งเสริมการขาย และการโฆษณา ใครเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย จะมีค่าใช้จ่ายส่วนรวมในการโฆษณาหรือไม่อย่างไร หรือมีค่าใช้จ่ายในการโฆษณาท้องที่ของร้านแฟรนไชซี่หรือไม่ เป็นการระบุให้เข้าใจตรงกัน

ระเบียบในการดำเนินธุรกิจ
         ในธุรกิจแฟรนไชส์ จะต้องมีการกำหนดระเบียบในการดำเนินธุรกิจ เพื่อรักษามาตรฐานของร้าน ดังนั้นในสัญญาอาจจะมีการระบุคือ ระเบียบที่สำคัญที่ต้องปฏิบัติเอาไว้ โดยเฉพาะในเรื่องของ การให้ตรวจสอบการดำเนินงานร้าน เพื่อประเมินผลการดำเนินงานของร้าน เป็นต้น

ข้อกำหนดในการเก็บรักษา/และการควบคุมคุณภาพ 
         เรื่องการกำหนดให้ซื้อสินค้าจากบริษัทแม่ เป็นเรื่องที่มีปัญหาระหว่างกันเสมอ และในกฎหมายแฟรนไชส์ที่กำลังจะออกมาในเร็วๆนี้ ก็จะมีการกล่าวถึงในเรื่องนี้ด้วย ดังนั้นการทำสัญญาแฟรนไชส์ที่ระบุให้มีการซื้อสินค้าใด จะต้องอยู่ในขอบเขตเพื่อการคงรักษา ตัวมาตรฐานและคุณภาพเท่านั้น จะกำหนดให้ซื้อจากบริษัทแม่ทุกอย่าง หรือปราศจากเหตุผลที่เหมาะสมจะไม่สามารถทำได้
 แต่ท่านสามารถระบุในเรื่องของวิธีการเก็บรักษาสินค้า หรือเครื่องมืออุปกรณ์ เพื่อช่วยในการรักษามาตรฐานด้วยได้
 ส่วนการควบคุมคุณภาพนั้นมักจะมีอยู่ในคู่มือ ซึ่งข้อกำหนดของสัญญาเรื่องนี้ มักจะสอดคล้องกับแนวทางของการควบคุมคุณภาพต่างๆที่อยู่ในคู่มือ

การเลือกพนักงานและการอบรม 
         แน่นอนที่สุด การทำระบบแฟรนไชส์ จะต้องมีหน้าที่ในการฝึกฝนบุคคลากรจนกระทั่งสามารถดำเนินธุรกิจเหมือนกับบริษัทแม่ได้  ดังนั้นในสัญญาจะต้องมีการระบุถึงเรื่องนี้ว่า ใครจะเป็นผู้คัดเลือกพนักงาน กำหนดระยะเวลาของการฝึกฝน และความช่วยเหลือ ว่าจะมีอย่างไร และระยะเวลายาวนานเพียงใด ไม่เช่นนั้นแล้วจะมีกรณีพิพาทเกิดขึ้น ถึงความไม่ชัดเจนในเรื่องนี้

การโอนสัญญา
        หากมีการทำธุรกิจแฟรนไชส์ไปแล้ว เกิดไม่อยากทำขึ้นมา ผู้ที่ซื้อแฟรนไชส์จะมีสิทธิ์โอนต่อให้คนอื่นได้หรือไม่ ประเด็นนี้ผู้ขายแฟรนไชส์ควรคิดเอาไว้ก่อน แล้วระบุกฎเกณฑ์เรื่องนี้ไว้ในสัญญา และการโอนจะโอนได้ในเรื่องอะไรบ้าง

รายได้ค่าสิทธิ์
        ในสัญญา ควรระบุคือ วิธีการชำระค่าสิทธิ์ รวมถึงวัน เวลา และอัตราค่าสิทธิ์ ที่แน่นอนเอาไว้
 การชำระค่ารอยัลตี้ หรือค่าแฟรนไชส์ อาจจะมีการกำหนดในรูปแบบของเปอร์เซ็นต์ของยอดขาย หรือผลกำไร หรือกำหนดเป็นอัตราที่แน่นอนรายเดือน ซึ่งควรมีการบอกเอาไว้ และกำหนดให้ชัดเจนว่าคำนวณรายได้ จากอะไร จากรายได้สุทธิ หรือจากรายได้ที่ยังไม่ได้หักค่าใช้จ่ายเป็นต้น
 นอกจากนี้อาจจะมีการกำหนดเป็นสกุลเงินใดในการรับชำระ (ในกรณีที่ขายแฟรนไชส์ต่างประเทศ รวมถึงกำหนดด้วยว่าใครเป็นผู้ชำระภาษี)

สมุดบัญชี
        ระเบียบในการลงแบบฟอร์มบัญชี ที่อาจจะมีการระบุให้ผู้ซื้อแฟรนไชส์ เก็บหลักฐานทางบัญชี อย่างพร้อมทุกข้อมูลและลงรายละเอียดรายรับ-รายจ่าย อย่างถูกต้องซึ่งเรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญ ที่ผู้ซื้อแฟรนไชส์ ควรจะปฏิบัติ ส่วนผู้ขายแฟรนไชส์ก็จำเป็นจะต้องมีระบบงานทางด้านรายงานทางการเงินที่ดี เพื่อใช้ในการวิเคราะห์ ข้อมูลต่างๆ รวมทั้งเป็นการช่วยเหลือผู้ซื้อแฟรนไชส์ให้มีระบบงานที่ดีขึ้นด้วย

สิทธิในการตรวจสอบบัญชี
        แฟรนไชส์ส่วนใหญ่ จะมีการจ่ายค่ารอยัลตี้ฟีตามเปอร์เซ็นต์ หรือยอดกำไร ซึ่งส่วนนี้จะเป็นยอดเงินเท่าไร ก็อาจจำเป็นต้องมีการตรวจสอบบัญชีของผู้ซื้อแฟรนไชส์  สิ่งนี้อาจจะเป็นจุดอ่อนไหวที่อีกฝ่ายหนึ่งไม่ประสงค์ให้ตรวจสอบ ที่จะต้องมีการตกลงกันตั้งแต่เริ่มแรกและระบุในสัญญาว่า จะอนุญาตให้มีการตรวจสอบบัญชีในการทำธุรกิจ หรืออาจมีการแต่งตั้งผู้ตรวจสอบบัญชีพิเศษขึ้นมาอีกก็ได้

การแข่งขัน
        เป็นปัญหาที่มักเกิดขึ้นเสมอ ที่ผู้ซื้อแฟรนไชส์ เมื่อซื้อแฟรนไชส์ไปได้ระยะหนึ่งเมื่อทำธุรกิจเองได้แล้ว ก็อาจอยากเป็นผู้ขายแฟรนไชส์เสียเอง หรือไม่อยากชำระค่ารอยอตี้ฟีอีกต่อไป ทำให้คู่ค้ากลายเป็นคู่แข่ง ซึ่งเป็นกรณีที่เกิดขึ้นเสมอ ดังนั้น สัญญาแฟรนไชส์ ก็อาจจะมีการทำความเข้าใจในประเด็นนี้โดยอาจจะมีเงื่อนไขระบุในการห้ามค้าแข่งในธุรกิจเดียวกัน ในระยะเวลาที่กำหนดเป็นต้น

การไม่เปิดเผยความลับ
        การขายแฟรนไชส์ จำเป็นจะต้องถ่ายทอดวิชาเฉพาะธุรกิจนั้นๆให้ผู้ซื้อ เช่นร้านอาหาร อาจจะมีเคล็ดลับเรื่องสูตรอาหาร หรือกลยุทธพิเศษในเรื่องของการทำการตลาดโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเปิดเผยคู่มือในการทำธุรกิจที่มีรายละเอียดทุกอย่าง ที่เจ้าของแฟรนไชส์ได้ศึกษาขึ้นมา ด้วยประสบการณ์เป็นเวลานาน เมื่อได้ถ่ายทอดให้แก่ผู้ซื้อแฟรนไชส์ไปแล้วอาจจะมีโอกาสที่จะถูกนำไปเปิดเผยได้ ดังนั้นในสัญญาควรมีการกำหนดในเรื่องนี้ ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้ซื้อแฟรนไชส์ที่จะต้องรักษาความลับ แม้กระทั่งเลิกสัญญาต่อกันไปแล้ว

ระยะเวลาสัญญาแฟรนไชส์ 
        แน่นอนว่าในการให้สิทธิแฟรนไชส์ จะต้องกำหนดระยะเวลา ของการให้สิทธิเอาไว้ จะเป็นกี่ปีผู้ขายแฟรนไชส์ อาจจะต่อกันครั้งละ 3 ปี 5 ปี หรือ 10 ปี ก็ตาม หากไม่ได้กำหนดไว้อาจจะเสมือนว่าจะได้สิทธิตลอดไป ซึ่งในกรณีที่ผู้ซื้อแฟรนไชส์ละเลยในการต่อค่าสิทธิ หรือประพฤติไม่เหมาะสม ก็จะแก้ไขได้ยากแต่ถ้ามีระยะเวลาก็อาจจะไม่มีการต่อสัญญาในรอบต่อไปได้

การเลิกสัญญา
        ในสัญญาควรจะระบุในกรณีที่เลิกสัญญาเอาไว้ด้วยว่ามีกรณีใดบ้างที่จะเลิกสัญญาแฟรนไชส์อีกต่อกัน เช่น อาจจะเสียชีวิต หรือมีคดีผิดกฎหมาย หรือกรณีผิดสัญญาร้ายแรง เช่นไม่ชำระค่าสิทธิ เป็นต้น

ผลของการเลิกสัญญา
        ผลของการเลิกสัญญาแล้วจะเป็นอย่างไรต่อไป ผู้ขายแฟรนไชส์ควรจะกล่าวถึงไว้ในสัญญาด้วย เช่นเมื่อเลิกสัญญาแล้วก็ไม่มีสิทธิในการใช้เครื่องหมายการค้า เป็นต้น

เหตุสุดวิสัย
        ในบางครั้งอาจมีสถานการณ์ที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น ภัยธรรมชาติ สงคราม เป็นต้น ก็อาจจะมีการกำหนดผ่อนผันสิทธิ และหน้าที่ของแต่ละฝ่ายในช่วงเวลาดังกล่าวได้

การอนุมัติและการอนุญาต
        ในการทำธุรกิจแฟรนไชส์ จำเป็นต้องควบคุมมาตรฐานในการดำเนินงานให้เท่ากันทุกแห่ง ดังนั้นอาจจะมีการสับสนว่าเรื่องใดบ้างอนญาติให้แฟรนไชส์ดำเนินงานเองได้ เรื่องใดจะต้องขออนุญาตจากบริษัทแม่เสียก่อน ซึ่งจะทำให้มีความเข้าใจตรงกันและลดปัญหาที่อาจเกิดขึ้น


เอกสารแนบท้าย
        ในการทำสัญญา อาจมีข้อสัญญาหลายเรื่อง เป็นการอนุญาตให้ใช้สิทธิเครื่องหมายการค้า หรือเอกสารรายละเอียดอื่น ๆที่แนบท้าย ซึ่งอาจจะระบุอ้างอิงถึงเอกสารแนบท้าย และระบุว่าส่วนใดอยู่ภายใต้สัญญาฉบับนี้ด้วย
ในเรื่องของการค้าสัญญาระหว่างกันนี้ จุดที่ดีที่สุดก็คือ ควรจะมีความเป็นธรรม ที่ให้โอกาสอีกฝ่ายหนึ่ง ได้อ่านทบทวนโดยละเอียดและได้ต่อรองในข้อตกลงต่างๆ กันก่อน ซึ่งการทำสัญญา ถ้าผู้ขายแฟรนไชส์จะสร้างระเบียบต่างๆขึ้นมาโดยที่ดูเป็นการเอาเปรียบอีกฝ่ายหนึ่งขึ้นมาก็อาจจะไม่สามารถบังคับใช้ได้เลย เพราะอาจจะอยู่ในลักษณะของสัญญาที่ไม่เป็นธรรม
     อย่างไรก็ตาม เรื่องของการเขียนสัญญาย่อมเป็นหน้าที่ของนักกฎหมาย ทนายความ ซึ่งข้อแนะนำในเรื่องนี้เป็นเรื่องการให้แนวทางว่า ควรจะมีการระบุ และพูดถึงในเรื่องใดบ้าง ซึ่งอาจจะมีการเพิ่มเติมมากกว่านี้หรือน้อยกว่านี้ ก็ขึ้นกับความต้องการของผู้ขายแฟรนไชส์และลักษณะของแต่ละธุรกิจ และกรยอมรับของผู้ซื้อแฟรนไชส์ที่มีจุดลงตัวซึ่งกันและกัน
รับสมัครงานด่วนหลายตำแหน่ง more...
 
26 ก.พ.-1 มี.ค. 52 พบกับงานซื้อ-ขายธุรกิจครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งปี 52 งานโอกาสธุรกิจ&แฟรนไชส์ ครั้งที่ 13....
 
แบบสอบถามแฟรนไชส์ซี่ (รับสิทธิ์สมัครสมาชิกนิตยสารฯ ฟรี!! 1 ปี)
ถ้าไม่สามารถอ่านเอกสารได้
ดาวน์โหลดโปรแกรมที่นี่....
            
 
 
 

บริการงานเว็บไซค์

 

 
 
- ditto world
- music palace
- pompadour
- blink
- สังขยา กาแฟ
- big move
- โจเอลลี่ โมอีส
- จันทร์สว่าง