วิททาร์ด
ชาผู้ดีอังกฤษ บุกตลาดไทย ชูคอนเซ็ปท์ทีคาเฟ่
เรื่องโดย:ดรุณี นามสุโพธิ์
หากย้อนกลับไปในอดีต จะพบว่าพฤติกรรมของผู้บริโภคของคนไทย จะชื่นชอบการดื่มกาแฟมากกว่าชา แต่ปัจจุบันนี้จะพบว่าคนไทยได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหันมาดื่มชากันมากขึ้นเกือบ 90% ซึ่งจะเห็นได้จากผู้ผลิตรายเล็ก รายใหญ่หันมาผลิตน้ำชากันมากขึ้น เพื่อรองรับตลาดของผู้บริโภคมากขึ้น แต่ที่น่าสนใจสุดๆคงจะหนีไม่พ้น ร้านทีคาเฟ่ วิททาร์ด ออฟ เชลชี (Whittard Of Chelsea) ที่นำเข้าชาจากเมืองผู้ดี เพื่อบุกตลาดเมืองไทย กับการสร้างคอนเซ็ปท์ใหม่ของการดื่มชา เจาะกลุ่มลูกค้าวัยรุ่นถึงผู้ใหญ่
มาสเตอร์แฟรนไชส์ วิททาร์ดรายแรกของไทย
บริษัทฯได้เป็นมาสเตอร์ แฟรนไชส์ในการนำแบรนด์ (Whittard of Chelsea) จากประเทศอังกฤษ เข้ามาเปิดตลาดในเมืองไทย โดย วิททาร์ด ออฟ เชลซี ชาที่เกิดขึ้นในประเทศอังกฤษเมื่อประมาณปี 1886 หรือ 130 ปีที่ผ่านมา ก่อนจะมาสร้างคอนเซ็ปต์ทีคาเฟ่ (Tea Cafe) เมื่อประมาณ 2-3 ปีที่ผ่านมา และมีสาขาร่วม 200 สาขาในอังกฤษ และได้เข้ามาขยายสาขาในไทยเมื่อปลายปี 2548 ซึ่งมีสิทธิในการขยายแฟรนไชส์ หรือให้สิทธิแฟรนไชส์ได้ทุกรูปแบบ โดยส่วนตัวแล้วผมรู้จักวิททาร์ดมากว่า 10 ปี ช่วง 2 ปีที่แล้ว เป็นจังหวะที่อยากจะทำธุรกิจ ผมต้องการทำร้านดื่มชาหรือ ทีคาเฟ่ ขึ้นมา เพราะมองว่าเป็นช่องว่างทางธุรกิจ และเป็นธุรกิจที่มีโอกาส เพราะยังไม่มีรายใดนำเสนอชาในรูปแบบร้านหรือที่มีคอนเซ็ปต์นี้ เมื่อเทียบกับร้านกาแฟที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก ได้ทำการศึกษาหาข้อมูลกับชาหลายแบรนด์ทั่วโลก แต่สุดท้ายมาลงที่วิททาร์ด ที่มีโปรดักส์หลากหลาย ครอบคลุมเครื่องดื่มเกือบทุกประเภท ชา กาแฟ ช็อคโกแลต ที่คัดสรรและผลิตขึ้นมาเอง ทำให้คุณภาพสินค้าภายใต้แบรนด์วิททาร์ดเป็นที่ยอมรับนอกจากชาที่เป็นที่รู้จักกันมานาน จึงตัดสินใจที่จะใช้วัตถุดิบจากวิททาร์ดเป็นวัตถุดิบ เป็นจุดที่เล็งเห็นว่าสามารถรับวัตถุดิบที่ครบได้จากแหล่งเดียว แต่ที่ผ่านมาวิทาร์ดจะไม่มีคอนเซ็ปต์ร้านเป็นเพียงผู้จำหน่ายชาและผลิตภัณฑ์เท่านั้น เมื่อได้พูดคุยกับผู้บริหารวิททาร์ดประเภทอังกฤษ ซึ่งเห็นด้วยกับคอนเซ็ปต์ธุรกิจที่จะนำเสนอสินค้าวิททาร์ดในรูปแบบทีคาเฟ่ จึงได้ตกลงธุรกิจในรูปแบบแฟรนไชส์ ซึ่งเป็นมาสเตอร์แฟรนไชส์ในไทยภายใต้แบรนด์ดังกล่าว และประเทศต้นตำรับการดื่มชาอย่างในยุโรป เช่น อังกฤษ หรือในจีน และญี่ปุ่น การดื่มชาเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมในแต่ละประเทศนั้นๆ หรือเรียกได้ว่าการดื่มชา แทนน้ำเลยทีเดียว เช่นเดียวกับคนไทยที่เคยใช้ชีวิตในอังกฤษ ได้ซึมซับวัฒนธรรมการดื่มชาผ่านที คาเฟ่ของ "วิททาร์ด ออฟ เชลซี" ร่วม 200 แห่งในอังกฤษ และผมว่ารสชาติชา และบรรยากาศของร้าน จะได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากคนไทย
"จิรพงษ์ สกุลชาติ" กรรมการผู้จัดการ บริษัททีเตชา จำกัด มาสเตอร์แฟรนไชส์ วิททาร์ด ออฟ เชสซี กล่าวถึงที่มาของการทำธุรกิจ
ปัจจุบันวิททาร์ด ออฟ เชลซี มี 7 สาขา ประกอบด้วยสาขา ดิ เอ็มโพเรี่ยม,สยาม พารากอน,ตึกคิว เฮ้าส์ สาทร,ลาวิลว่า อารีย์,เอสพละนาด และสนามบินสุวรรณภูมิอีก 2 จุด และได้พื้นที่สำหรับการขยายสาขาอีก 3 สาขาในปีนี้ ประกอบด้วยพัทยา,คริสตัล พาร์ค เรียบทางด่วนรามอินทรา และเจ อเวนิว แจ้งวัฒนะ โดยแต่ล่ะสาขาใช้งบลงทุน 2-3 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับขนาด และอยู่กับตลาด ว่าใหญ่ หรือเล็ก แล้วแต่สถานการณ์ บนพื้นที่ตั้งแต่ 50 80 ตารางเมตรขึ้นไป ที่นั่งประมาณ 20 ที่นั่ง
ชูคอนเซ็ปท์..กับการดื่มชารูปแบบใหม่
สำหรับคอนเซ็ปต์ของวิททาร์ดที่วางไว้นั้น เริ่มตั้งแต่การตกแต่งร้านที่ต้องการให้เหมือนโอเอซิส เป็นที่พักผ่อนของคนเมือง หรือระหว่างเบรกจากงานมานั่งดื่มชา บรรยากาศร้านสบายๆ มีพื้นที่ทั้งด้านในและด้านนอก แตกต่างด้วยโทนสีขาว น้ำเงิน เป็น 2 สีหลัก ผมมองว่าการนำเสนอชาต่อผู้บริโภคนั้นได้เปลี่ยนไป เพราะตามวิถีการดื่มชาของแต่ละประเทศย่อมแตกต่างกัน สำหรับของทีเตชานั้น ต้องการนำเสนอชาที่เป็นแทรนดี้ การเสิร์ฟชาจึงเป็นแก้ว ไม่ใช่เป็นกาอย่างที่อังกฤษ ผมไม่ต้องการให้วิททาร์ดไปอยู่ในชีวิตการทำงานเหมือนกับกาแฟ แต่ต้องการให้เป็นช่วงที่พักจากการทำงาน ช่วงที่ต้องการผักผ่อนคลายเครียด เป็นการนั่งคุยกันเล่นๆ ไม่ใช่คุยเรื่องธุรกิจ สำหรับจุดเด่นของทีคาเฟ่ วิททาร์ด อยู่ที่คุณภาพของสินค้า และที่ร้านจะขายเป็นใบชาทั้งหมด ดังนั้นลูกค้าที่ร้านจึงค่อนข้างที่จะจริงจังกับการดื่มชา เพราะส่วนใหญ่คนที่มาทานวิททาร์ด จะรู้จักเรื่องชามาเป็นอย่างดี บางทีชงให้ไม่ถูกใจ เราก็ต้องเปลี่ยนให้เขาใหม่ ผมจึงต้องเน้นเรื่องคุณภาพเป็นหัวใจของร้าน ส่วนสินค้าในร้านประกอบด้วยชา รวมไปถึงกาแฟ ไอศกรีม และเครื่องดื่มช็อคโกแล็ค บรรยากาศของร้านที่มีรูปแบบการตกแต่งร้านที่ยืดหยุ่นกับแต่ละประเทศ ส่วนราคาจะอยู่ที่ 65-140 บาท นอกจากนั้นเครื่องดื่มในร้านยังมีความหลากหลาย เฉพาะชามีให้เลือก 50-60 รายการ และยังมีชาผลไม้สำหรับลูกค้าวัยรุ่น ซึ่งจากการเข้ามาขยายสาขาในไทยพบว่าได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ฐานอายุของลูกค้าเริ่มตั้งแต่ 14-70 ปี พฤติกรรมการดื่มชาในที คาเฟ่ ของคนไทย ที่เคยถูกจำกัดเฉพาะกลุ่ม แต่กระแสของชาเขียว ทำให้ชาเป็นเมนูเครื่องดื่มทางเลือกในใจคนไทย ทำให้วิททาร์ด ออฟ เชลซี ขยายตัวได้ทั้งจำนวนสาขาและฐานลูกค้าในกลุ่มวัยรุ่น จิรพงษ์กล่าว
จิรพงษ์ มองถึงโอกาสธุรกิจว่าปัจจุบันผู้บริโภคใส่ใจต่อสุขภาพมากขึ้นซึ่งไม่ใช่เป็นเทรนด์แต่เป็นไลฟ์สไตล์ของคนที่หันมาใส่ใจทางด้านนี้ และด้วยคุณสมบัติของชาสามารถตอบความต้องการของคนได้ ที่ต้องการบริโภคเพื่อการผ่อนคลายหรือบำบัดโรค สังเกตจากการเติบโตของการบริโภคชาในแต่ละปีเพิ่มสูงขึ้น
สร้างจุดแข็ง ก่อนขายแฟรนไชส์
จิรพงษ์ กล่าวถึงการขายแฟรนไชส์ว่า การขยายสาขาในระบบแฟรนไชส์นั้น ปัจจุบันมีลูกค้าให้ความสนใจกันมากขึ้น จากกลุ่มลูกค้าที่รู้จักแบรนด์วิททาร์ดเป็นอย่างดีจากกลุ่มนักเรียนอังกฤษหรือในแถบยุโรป นักท่องเที่ยวที่ได้เดินทางไปยุโรป รวมถึงกลุ่มคนที่เข้าใช้บริการและชื่นชอบในรสชาติ แต่ผมยอมรับเลยว่ายังไม่พร้อมที่จะขยายในรูปแบบแฟรนไชส์ ต้องรอเวลาในการเตรียมระบบที่ดีก่อน ควบคุมคุณภาพสินค้าให้ได้มาตรฐาน ซึ่งตอนนี้ผมกำลังเตรียมความพร้อมระบบภายในของบริษัทอยู่ ทั้งเรื่องการควบคุณคุณภาพ เรื่องการบริหารร้าน เรื่องการจัดการทั้งหมด ผมเพิ่งเปิดร้านมาได้แค่ 1-2 ปีเท่านั้น ตอนนี้ที่ติดต่อขอซื้อแฟรนไชส์มีทั้งในกรุงเทพ และต่างจังหวัด ที่มาส่วนใหญ่จะเห็นร้าน ผมเป็นผู้คิดคอนเซ็ปต์นี้ขึ้นมา ย่อมรู้ว่าจะสามารถพัฒนาต่อไปในทิศทางไหนได้ อยากทำตรงนี้ให้อยู่ตัวก่อน ขอวางระบบให้มั่นใจก่อนว่าสามารถควบคุมคุณภาพได้ทั้งหมด เรื่องเทคโนโลยีไม่ค่อยห่วง เพราะออนไลน์ไปที่สำนักงานใหญ่ ผมมองว่าแฟรนไชส์ที่ไม่ประสบความสำเร็จส่วนมากจะมาจากขาดมาตรฐานในการควบคุมคุณภาพ ผมต้องการให้ธุรกิจผมแข็งแรง มั่นคง และนิ่งก่อน ถึงจะขายแฟรนไชส์
จะเห็นได้ว่า การพัฒนาแนวทางการพัฒนาธุรกิจของ จิรพงษ์ กับคอนเซ็ปต์ ทีคาเฟ่นั้น สามารถพัฒนาสู่ระบบแฟรนไชส์ได้อย่างไม่อยาก นับเป็นจุดเริ่มของแนวทางการทำธุรกิจที่ดี เพราะปัจจุบันหลักของการสร้างธุรกิจแฟรนไชส์ให้อยู่รอดได้นั้นต้องคำนึงถึงคุณภาพ การสร้างชื่อให้เป็นที่รับรู้ด้วยการขยายสาขาเป็นเป็นร้านต้นแบบ รวมถึงการพัฒนาระบบในการตรวจสอบเพื่อควบคุมมาตรฐานได้
ส่วนเรื่องการเลือกทำเลการเปิดร้าน จะเน้นไปตามศูนย์การค้าเป็นอันดับแรก รองลงมาจะเป็นออฟฟิศ รูปแบบของร้านจะเป็นช็อป พนักงานแต่ละสาขาประมาณ 3 คนขึ้นไป ทำหน้าที่ชงชา เสิร์ฟ ทุกคนจะต้องสามารถทำหน้าที่แทนกันได้ และที่สำคัญต้องชงชาออกมาให้มีรสชาดเหมือนกันด้วย
แนวโน้มธุรกิจชา
จิรพงษ์ กล่าวว่า ธุรกิจอย่างนี้ จะขึ้นอยู่กับสภาวะเศรษฐกิจ เนื่องจากประเทศไทยมีการพัฒนาขึ้นเยอะ คนชั้นกลางก็จะขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งก็เป็นเทรนของประเทศที่พัฒนาแล้ว ถ้าเศรษฐกิจยังดีอยู่ ตัวที่เป็นฐานลูกค้าระดับ บี ก็จะโตขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งผมเชื่อว่าถ้าฐานตรงนี้ใหญ่ขึ้น ธุรกิจก็จะโตขึ้น ธุรกิจที่เป็นไลฟ์สไตล์ช็อป ก็จะมีโอกาสมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ถ้าเศรษฐกิจไม่ดี กลุ่มชนชั้นกลาง ก็จะไม่ขยาย ธุรกิจร้านชาก็จะไม่ขยายเมือนกัน คือโครงสร้างธุรกิจไม่เหมือนกัน คือคนที่มานั่งทาน ไม่ใช่เรื่องรสชาดอย่างเดียว ถึงแม้ว่าเรื่องรสชาดจะเป็นปัจจัยอันดับหนึ่ง รองลงมาคือเรื่องของอารมณ์ ความรู้สึกในการนั่งทานในร้าน ความสบายใจ ความเพลิดเพลิน หรือการใช้เวลาในแต่ละวัน ล้วนเป็นปัจจัยของการทำธุรกิจ แต่ถ้าเป็นกลุ่มคนอีกระดับหนึ่ง เขาก็คงไม่มานั่งใช้เวลาในร้านแบบนี้ การดำเนินชีวิตก็อีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งผมมองว่ากลุ่มนี้ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายอยู่แล้ว ฉะนั้นถ้าเศรษฐกิจไม่ดี คนที่อยู่ในธุรกิจแบบผม ก็จะไม่มีทางขยายธุรกิจได้ ผมมองว่าอนาคตของการทำธุรกิจขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจจริงๆ ไม่เหมือนกับการข้าวราดแกง ที่คนเราต้องกินทุกวัน ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจไม่ดี แต่ว่าคนก็ต้องกิน แต่ถ้าเป็นร้านเหมือนของผม ถ้าเศรษฐกิจไม่ดี คนอาจจะคิดว่ากินหรือไม่กินก็ได้ ไม่เป็นไร ไปกินที่บ้านก็ได้ แต่ถ้าธุรกิจดี ชีวิตมีความสุขมากขึ้น คนก็อยากจะมีกิจกรรมในชีวิตมากขึ้น มีความหลากหลายในการใช้ชีวิตมากขึ้น มีความสุขกับการนั่งทานชาอร่อยๆ กับบรรยากาศที่ดีๆ ฟังเพลงเพราะๆ มีการสังสรรค์กับเพื่อนฝูง ในอนาคตผมว่าจะมีแบรนด์ใหม่ๆเกิดขึ้นมาอีกมาก แต่สุดท้ายก็ต้องขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจในบ้านเราด้วย
สุดท้าย จิรพงษ์ กล่วถึงการแข่งขันว่า การแข่งขันของธุรกิจที คาเฟ่ ส่วนใหญ่เป็นคู่แข่งทางอ้อมที่เป็นโรงแรมหรือร้านกาแฟที่มีเครื่องดื่มประเภทชาให้บริการ แต่ของเราไม่ได้รับผลด้านลบจากการแข่งขัน เพราะร้านมีจุดเด่นชัดเจนและการเข้ามาในไทยก็ไม่ได้มาแบบโนเนม ไม่ได้เข้ามาเริ่มสร้างฐานลูกค้าใหม่ทั้งหมด แต่เรามีลูกค้าเดิมที่เคยดื่มชาวิททาร์ด ออฟ เชลซี ในอังกฤษอยู่แล้ว
|