กระบวนการวางแผนปฎิบัติการ
อ.มานิต รัตนสุวรรณ


3. การวางแผนและกำหนดยุทธศาสตร์
     การทำธุรกิจการค้าและการบริหารองค์กรก็เหมือนกับการทำสงครามใหญ่ที่ต้องมีการวางแผน กำหนดนโยบาย กำหนดวัตถุประสงค์และเป้าหมายของงานให้แจ้งชัดว่าต้องการอะไร แค่ไหนจะต้องใช้งบใช้กำลังพลเท่าไร และจะมีอุปสรรคอะไรที่ต้องระมัดระวัง มีภัยหรือแรงบีบคั้นอะไรที่เราจะต้องห่วงกังวลเป็นพิเศษหรือไม่
     การบุกเข้าตีเมืองใดเมืองหนึ่ง ก็ต้องมีการวางแผนพิชัยสงครามอย่างรอบคอบ การตรวจสอบกำลังพล ขวัญทหาร ประสบการณ์ทหาร ความรู้เกี่ยวกับฝ่ายตรงข้าม ข้อมูลกำลังพล แม่ทัพ ความเข้มแข็ง ความชำนาญการรบ
 การถูกกองทัพอื่นบุกมาโจมตีและต้องตกเป็นฝ่ายตั้งรับก็เช่นเดียวกัน ทันทีที่ทราบข่าวสงครามก็ต้องมีการประเมินกำลัง ประเมินความน่ากลัว ประเมินความได้เปรียบเสียเปรียบ ตรวจสอบข้อมูลของฝ่ายข้าศึกอย่างละเอียดถี่ถ้วน จากนั้นก็ต้องมีการประชุมขุนทหาร วางแผนสงคราม กำหนดตัวแม่ทัพนายกองแต่ละฝ่าย กำหนดยุทธศาสตร์ว่าจะตั้งรับแบบใด หรือจะยกทัพออกไปปะทะนอกเมือง หรือจะถอยหนี ทิ้งเมือง
     การบริหารวิกฤตการณ์ขององค์กรก็เช่นเดียวกัน ทันทีที่ทราบว่ามีปัญหาเกิดขึ้น รู้จะแจ้งแน่ชัดว่าปัญหาอยู่ตรงไหน สาเหตุมาจากอะไร ใครคือต้นตอและเหตุผล มีแรงจูงใจอะไร เกิดจากความประมาทเลินเล่อ หรือเกิดจากความบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ภายในองค์กร หรือเกิดจากสาเหตุภายนอก จากคู่แข่งขัน คู่ปรปักษ์ คู่รักคู่แค้นชนิดผูกผี หรือเกิดจากปัจจัยภายนอกที่เราควบคุมไม่ได้ เช่น ราคาน้ำมันในตลาดโลก สภาพเศรษฐกิจล่มสลาย ตลาดตกกะทันหัน
     ไม่ว่าจะเกิดจากสาเหตุอะไรก็ตาม สิ่งแรกที่ต้องทำหลังจากวิเคราะห์สาเหตุ คือประเมินความเสียหาย ความรุนแรง ขอบเขตของความเสียหาย ความถาวรของวิกฤตการณ์ จะยืดเยื้อบานปลายหรือไม่ จะเป็นสาเหตุที่ส่งผลกระทบไปถึงอะไรบ้าง และสถานการณ์จะลุกลามไปในทางใด จะมีตัวแสดงเข้ามาเพิ่มหรือไม่ จะมีใครซ้ำเติมหรือไม่ เราสามารถหาต้นเหตุบุคคลที่เป็นพิษ (Toxic Man) ได้หรือไม่ ได้ตัวการหรือหัวหน้าใหญ่หรือไม่ ได้วงจรและเครือข่ายครบถ้วนหรือไม่ ฯลฯ
     เช่นเดียวกับซุนวูและขงเบ้งที่ชำนาญการรบที่สามารถหยั่งรู้ดินฟ้าทำนายเหตุการณ์ล่วงหน้าได้อย่างแม่นยำ และมีข้อมูลการศึกแบบละเอียด หรือพิเภกที่จับยามสามตาแล้วบอกพระรามได้ว่าทัพที่ยกมาแม่ทัพชื่ออะไรมีประวัติอย่างไรมีความเก่งอะไรเป็นพิเศษ ทำให้สามารถตระเตรียมทัพได้ถูกต้อง สามารถกำหนดตัวแม่ทัพที่จะไปทำการศึกได้ถูกต้องแบ่งงานได้ถูกต้อง
     การวางแผนของนักบริหารสมัยใหม่ก็ไม่ได้ต่างไปจากนักการศึกสมัยโบราณ เพราะความคิดของมนุษย์ก็ไม่ต่างกัน ต่างกันตรงที่เทคโนโลยีการสื่อสารและอาวุธสมัยใหม่ที่ก้าวหน้ากว่าเท่านั้น
     ในองค์กรที่เข้มแข็งจะมีผู้นำที่เข้มแข็ง มีประสบการณ์ มีความสามารถ มีบารมี มีแม่ทัพพร้อม มีกำลังพลพร้อม กำลังทุนทรัพย์เครื่องมืออุปกรณ์พร้อม การเผชิญวิกฤตการณ์ก็สามารถทำได้แบบมืออาชีพเชี่ยวชาญ มีการวางแผนละเอียดรอบคอบ มีการซักซ้อมแผนทบทวนแล้วทบทวนอีก แม้จะมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้น เบี่ยงเบนไปจากที่วางไว้เดิมก็มีแผนสำรองหรือไม่ก็สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้ทันท่วงที

ผู้นำในทุกสถานการณ์ (Leader of all seasons)
     การวางแผนที่ดีจะต้องประกอบด้วยผู้นำ ที่ดีที่เก่ง มีบารมี หรือมิฉะนั้นจะต้องประกอบด้วยคนเก่งหลายคนมารวมกัน นั่งคือกรณีที่องค์กรนั้นโชคดี มีบุคคลดังกล่าวซึ่งถือเป็นยุคทองขององค์กรในยุคนั้น ในองค์กรเล็กๆ บุคคลที่ทำหน้าที่นี้คือ เถ้าแก่หรือเจ้าของบริษัท หรือผู้บริหารระดับสูงที่ถูกจ้างให้มาทำหน้าที่นี้
     ผู้นำที่มีบารมี (Charismatic Leader) คือผู้นำมีความดี ความเก่ง ความกล้า ความพร้อม เป็นขวัญและกำลังใจของบริษัทหรือองค์กรที่ลูกน้องรัก ลูกค้ารัก เพื่อนๆ รัก และไปไหนก็มีแต่คนยกย่องนับถือ ไปอยู่วงการใดก็โดดเด่นเป็นผู้นำ เมื่อใดที่มีวิกฤตการณ์ก็จะเข้าควบคุมสถานการณ์อย่างเฉียบขาด มีจิตเยือกเย็น สุขุม กล้าหาญ ไม่หวั่นไหว ตัดสินใจเร็ว ถูกต้อง แก้ไขสถานการณ์ได้ทุกแบบ ไม่ว่าจะเกิดสิ่งที่ไม่คาดฝันเพียงใด มีความสามารถในการพูด เจรจา หว่านล้อม ให้กำลังใจ มีบริวารดี มีคนดี มีฝีมือให้ใช้ไม่ขาดแคลน และใช้คนอย่างถูกต้องทุกครั้ง
     แต่ในองค์กรใหญ่ๆ ไม่ว่าในเมืองไทยหรือต่างประเทศ น่าสังเกตว่า ไม่ว่าองค์กรจะใหญ่เพียงใด ก็จะมีบุคคลกลุ่มหนึ่งที่กุมชะตาความเป็นความตายขององค์กร ไม่ว่าจะมีพนักงานเป็นหมื่นเป็นแสน มีนักบริหารเป็นร้อย แต่จะมีบุคคลในระดับสูงสุดมากกว่าหนึ่งคน แต่ไม่เกิน 5 คน ที่เป็นกลุ่มเสนาธิการระดับสูงสุดที่สามารถสื่อสารถึงกันได้ตลอดเวลา และสามารถประชุมปรึกษา ตัดสินใจด้วยความรวดเร็ว วางแผนจัดกำลังพลและกำหนดยุทธศาสตร์ใหญ่ ก่อนที่จะมีการประชุมระดับขุนพลหรือระดับผู้บริหารทั้งหมด

กรณีศึกษาคดีวอเตอร์เกต
     การบริหารประเทศของสหรัฐอเมริกา แม้ประธานาธิบดีจะมีอำนาจตัดสินใจสูงสุด แต่จะมีคณะทำงานซึ่งมีบุคคลที่เรียกว่า Chief of Staff หรือหัวหน้าคณะทำงานของประธานาธิบดี เป็นกุนซือใหญ่ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูล ประเมินสถานการณ์ จัดประชุมระดมสมอง ในกลุ่มแคบๆ ก่อนที่จะประชุมคณะรัฐบาลและหาทางเลือกให้ประธานาธิบดีสั่งการ
     กรณีวอเตอร์เกตที่โด่งดังซึ่งเป็นวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นกับประธานาธิบดีนิกสันที่ต้องตกเก้าอี้อย่างไม่คาดฝันจากเรื่องเล็กๆ ที่เหมือนน้ำผึงหยดเดียว คือการลอบอัดเทปคู่แข่งขันซึ่งผิดกฎหมายและมารยาททางการเมือง และบุคคลที่เป็นประธานาธิบดีจะปฎิเสธไม่รู้เรื่องไม่รับรู้ไม่ได้ บุคคลที่เป็นหัวใจในเรื่องนี้คือ Chief of Staff หรือหัวหน้าคณะทำงานของประธานาธิบดี ซึ่งพยายามควบคุมสถานการณ์ วางแผน ดำเนินการแก้ไข แต่ในที่สุดไม่สำเร็จ ถ้าได้ดูเรื่องราวจากภาพยนตร์ที่ทำมาเผยแพร่ในภายหลังชื่อเรื่อง All the President’s Men ซึ่งนำโดยพระเอกรูปหล่อโรเบิร์ต เรดฟอร์ด จะเห็นการต่อสู้ระหว่างพระเอกกับกลุ่มบุคคลดังกล่าว ฝ่ายหนึ่งทำหน้าที่ขุดคุ้ยอีกฝ่ายหนึ่งทำหน้าที่ปกปิด ปกป้องสถาบันประธานาธิบดี ตัวประธานาธิบดี โดยการวางแผนทุกวิถีทาง จะเห็นการประชุมลับสุดยอด การระดมสมอง การกำหนดยุทธศาสตร์ การดำเนินการแก้ไข แม้ในที่สุดจะไม่สำเร็จก็ตาม

     ในทุกองค์กรจึงควรจะมีกลุ่มบุคคลที่ทำงานในระดับเสนาธิการ กลุ่มบุคคลเล็กๆ ที่ล้อมรอบผู้นำองคืการ เป็นกลุ่มบุคคลที่ทำหน้าที่วางแผน ตัดสินใจ และสังการ องค์กรใดแม้จะมีผู้นำที่มีบารมีสูง มีความสามารถเพียงใด แต่กลุ่มบุคคลดังกล่าวจะช่วยทำหน้าที่กลั่นกรอง สะท้อนความคิดและภาพในทางลบให้กับผู้นำด้วย คอยคัดค้าน ให้ความเห็นแย้ง มิใช่ประจบสอพลอ เห็นดีเห็นงามไปทุกเรื่อง ทั้งที่รู้ว่าจะเป็นการตัดสินใจที่ผิดและเสียหาย เสี่ยงอย่างร้ายแรง
     องค์กรใดที่บริหารแบบ “ข้ามาคนเดียว” หรือเผด็จการเต็มรูปแบบ ในที่สุดองค์กรนั้นก็จะประสบวิกฤตในวันใดวันหนึ่ง เมื่อเกิดวิกฤตการณ์ที่หนักเกินกว่าที่บุคคลนั้นจะรับได้ ซึ่งผู้นำของโลกที่มีบารมีดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ นโปเลียน โบนาปาร์ต สุดท้ายก็เสียชีวิตแบบไม่มีแผ่นดินจะอยู่ ไม่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นบุคคลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเก่งที่สุดในโลกเพียงใดก็ตาม
     กลับกันบางองค์การที่มีบุคคลรายล้อมที่เต็มไปด้วยความตื่นกลัว ขี้ขลาด ระมัดระวังจนเกินไปไม่กล้าเสี่ยง ไม่มีประสบการณ์ คอยแต่คัดค้าน ให้ความเห็นแย้ง จนทำให้ผู้นำเกิดความละล้าละลัง ไม่กล้าตัดสินใจ จนในที่สุดไม่กล้าทำอะไรเลย หรือรอให้เหตุการณ์สุกงอมจนเกินกว่าจะแก้ไขสถานการณ์บานปลายจนควบคุมไม่ได้ จนทำให้ขุนศึกหรือผู้บริหารที่เต็มไปด้วยแผนการที่ดีหมดกำลังใจ เพราะคิดอะไรก็โดนคัดค้านหมด กลัวว่าจะได้หน้าได้ดีกว่า เป็นศึกชิงตำแหน่งที่จะปล่อยให้ทำงานสำเร็จไม่ได้ ถ้าเช่นนั้นก็ถือเป็นโชคร้ายขององค์กร ถ้าได้เจ้านายเลวหรือนักบริหารมือไม่ถึงผสมโรงก็ถึงคราวเคราะห์ของการล่มสลายขององค์กร
การตัดสินใจเลือกทางเลือก
     การวางแผนที่ดี นอกจากมีผู้บริหารและทีมงานเสนาธิการที่ดี มีระบบข้อมูลที่เฉียบขาด มีการวิเคราะห์ปัญหาสาเหตุอย่างเป็นระบบ มีการตั้งเป้าหมายของงาน ขอบเขตของการทำงาน การกำหนดหน้าที่ มอบหมายงานแบ่งงานและกำหนดตัวบุคคลผู้รับผิดชอบในแต่ละงานอย่างแจ้งชัด มีคณะผู้ตัดสินใจ สั่งการ ติดตาม ตรวจสอบ ทุกขั้นตอน
 การสร้างทางเลือกเพื่อการตัดสินใจทางยุทธศาสตร์ของทีมเสนาธิการ ก็ถือว่าเป็นความสามารถที่สำคัญ
     ในการบริหารแบบโบราณจะใช้วิธีประชุมในท้องพระโรง จักรพรรดิ หรือผู้นำจะนั่งบนบัลลังก์โดยมีฝ่ายบุ๋นหรือฝ่ายนักคิดเป็นมุขอำมาตย์อยู่ด้านหนึ่ง และฝ่ายบู๊หรือแม่ทัพขุนศึกอีกด้านหนึ่ง
     เป็นธรรมดาของฝ่ายขุนศึกก็จะเต็มไปด้วยความฮึกเหิมพร้อมรบ พร้อมประจัญบานตลอด ไม่กลัวอันตราย พร้อมเสี่ยงชีวิต เช่นเดียวกับในองค์กร ปกติจะมีฝ่ายตลาด หรือฝ่ายขายที่พร้อมจะเป็นนักรบประจัญบาน พร้อมปฏิบัติการ ขอเพียงแต่ให้สั่ง นักรบการตลาดเหล่านี้บางคนเป็นประเภท Fighter ตั้งใจบุกตะลุยอย่างเดียว เป็นนักมวยประเภทลุยแหลก แทนที่จะเป็น Boxer ที่มีลีลามีการบุกมีการถอย มีจังหวะจะโคน
     ในขณะที่ฝ่ายนักคิด ฝ่ายปราชญ์ หรือฝ่ายยุทธศาสตร์ จะคิดอย่างรอบคอบ มีความสุขุมเยือกเย็น อ่านข้อมูลอย่างทะลุปรุโปร่ง คาดเดาเหตุการณ์ล่วงหน้าได้ ก็จะคอยทักท้วงแผนของฝ่ายกระหายรบที่อาจจะบุ่มบ่ามทำให้เสียหายต่อองค์กรได้ รู้จักการใช้หลัก เร็ว ช้า หนัก เบา จังหวะชก จังหวะตาม จังหวะถอยตั้งหลัก
     ในการบริหารแบบสมัยใหม่ จะมีการตั้งศูนย์บัญชาการรบ War Room ที่ประชุมลับเฉพาะเสนาธิการขององค์กร จะมีแผนที่เต็มห้องประชุม มีตัวเลข มีสถิติ มีคอมพิวเตอร์ และระบบข้อมูล พร้อมที่จะฉายขึ้นจอประเมินสถานการณ์ ความเสียหาย
     จากนั้นก็จะมีตั้งทีมงาน กำหนดตัวผู้นำ ผู้บัญชาการ แบ่งงาน การกำหนดเป้าหมาย กำหนดยุทธศาสตร์ แผนฉุกเฉินรีบด่วน แผนระยะสั้น แผนระยะกลาง และแผนระยะยาว
     แผนฉุกเฉิน คือสิ่งที่ต้องรีบทำโดยรีบด่วน เฉพาะหน้าที่ต้องทำทันที เช่น สั่งหยุดผลิต หยุดขาย เพื่อมิให้สถานการณ์ลามไปจนควบคุมไม่ได้
     แผนระยะสั้น คือการเร่งหยุดความเสียหายมิให้ขยายตัว การเรียกประชุมผู้เกี่ยวข้อง ประเมินสถานการณ์ ขอความเห็นทางเลือกเพื่อแก้ไขว่ามีกี่วิธี วิธีไหนดีที่สุด แล้วตัดสินใจดำเนินการ
     แผนระยะกลาง คือการแก้ไขอย่างเป็นระบบเพื่อให้สถานการณ์หยุดลงแบบสมบูรณ์ พลิกสถานการณ์ให้กลายเป็นโอกาส
 แผนระยะยาว คือการล้มล้างระบบความคิดเก่า ระบบเก่า Re-Enginering ระบบการทำงานเดิม เพื่อป้องกันมิให้เกิดวิกฤตการณ์นี้อีกในอนาคต ให้บทเรียนครั้งนี้เป็นโอกาสดีในการปรับปรุงองค์กรและผู้บริหารระบบทำงาน และคนทำงานในองค์กรทั้งหมด
 
แนวทางเลือก เพื่อตัดสินใจแบบมียุทธศาสตร์
    1.ตั้งรับ ลดความเสียหาย ควบคุมความเสียหาย สั่งหยุดดำเนินการชั่วคราว
 ให้ทุกคนอยู่กับที่อย่าเพิ่งดำเนินการอะไร จนกว่าจะได้รับคำสั่ง ถ้าเป็นเรือที่เจอมรสุมที่ไม่คาดฝัน สิ่งแรกคือลดเสาลดใบ ให้เรืออยู่กับที่ ไม่กางใบรับมรสุม ถ้าเป็นรถยนต์ที่เจอฝนกระหน่ำแบบไม่ลืมหูลืมตา อาจะชะลอหรือหยุดรถเพื่อตั้งหลัก หยุดขาย หยุดผลิต หยุดบริการ หยุดกิจการ ปิดบริการชั่วคราว ฯลฯ รอดูจนเหตุการณ์คลี่คลาย แล้วค่อยเริ่มต้นใหม่ รอจนสามารถแก้ปัญหาได้เรียบร้อย
    2.ถอยตั้งหลัก
 เมื่อเห็นว่าความรุนแรงน่ากลัว ถ้าขืนเดินหน้าต่อไป มีแต่พังกับพัง บางครั้งอาจถึงกับอาจจะต้องถอยจริงๆ หยุดขายชั่วคราว เก็บข่าวของ สั่งทีมงานกลับฐานทัพ ไปตั้งหลักใหม่ ค่อยๆ คิดใหม่ ห้ามดำเนินการต่ออย่างใดทั้งสิน ถือยุทธศาสตร์ยอมถอยหนึ่งก้าวเพื่อเดินหน้าสิบก้าว ไม่ต้องกลัวว่าจะเสียหน้า บางครั้งเตรียมการไว้เต็มรูปแบบแต่เกิดถูกดักโจมตีกะทันหัน ขืนเดินหน้าต่อไปมีแต่พังกับพัง ถ้าประเมินว่าความเสียหายจะยิ่งใหญ่กว่าที่คิด สู้ยอมหยุดก่อน เลิกก่อน วันหน้าค่อยกลับมาเอาใหม่ ไม่ควรดันทุรัง
    3.ฮึดสู้ ตอบโต้ รุกกลับ
 ถ้าประเมินว่าวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเพียงบททดสอบความแข็งแกร่งของเรา ว่าเราเป็นตัวจริงหรือไม่ สินค้าของเราดีจริงหรือไม่ เหมือนคำพูดที่ว่า “ถ้ามือไม่มีแผล แม้จุ่มยาพิษก็ไม่เป็นอะไร” ถ้าข้อมูลแจ้งชัดว่ามีการกลั่นแกล้งบริษัทเรา สินค้าเรา เพราะความอิจฉาตาร้อนของคู่แข่งขัน ไม่อยากให้เราได้ดี ใส่ร้ายป้ายสี ปล่อยข่าวทำลาย ทั้งที่ไม่มีความจริงเลย ยุทธศาสตร์นี้คือการวางแผนใหญ่ในการเปิดการรุกครั้งใหญ่ จัดรายการใหญ่ ทำแคมเปญใหญ่ เพื่อช่วงชิงและทำความจริงให้ปรากฏ
 มีหลายครั้งที่วิกฤตการณ์กลับกลายเป็นโอกาส เพราะในขณะที่คนอื่นถอยหมด หยุดหมด แต่ถ้าเรามความแข็งแกร่ง มีความได้เปรียบกว่า เราสามารถฉวยโอกาสจากวิกฤตการณ์นี้ เช่น ในภาวะสงครามที่จะเกิดเศรษฐีสงครามขึ้นจำนวนมาก หรือในช่วงเศรษฐกิจพังพินาศที่ผ่านมา หลายองค์กรกลับได้เปรียบ เพราะมีฐานการเงินที่เข้มแข็ง มีการวางแผนเตรียมการล่วงหน้า ประเมินสถานการณ์ได้ถูกต้องแม่นยำ สามารถกักตุนกำไรจากเงินบาที่ตกต่ำ กำไรจากการขายดอลลาร์ เก็งกำไร กว้านซื้อธุรกิจที่ล้มได้ในราคาต่ำสุด เพื่อนำมาขายต่อได้กำไรมากมาย
     กรณีที่เจ็บปวดของประเทศไทย เมื่อตอนที่เกิด NPL เพราะการลอยค่าเงินบาท ทำให้บริษัทในเมืองไทยพังพินาศตกไปอยู่ในมือของ ปรส. ปรากฏว่ากฎเกณฑ์การประมูลของรัฐบาลไทยที่เล็งผลเลิศว่า จะให้บริษัทต่างประเทศเอาเงินมาลงทุนในเมืองไทย ผลกลับกลายเป็นว่าบริษัทพ่อมลทางการเงินเหล่านี้ไม่ต้องนำเงินมาลงทุนเลย แต่อาศัยช่องโหว่ของกติกาเข้าประมูล โดยไม่ต้องใช้เงินต่างประเทศ อาศัยเครดิตตัวเองและเงินค้ำประกันจากเจ้าของโครงการเดิม จากนั้นก็ซื้อถูกแล้วเอามาขายต่อกำไรมหาศาลให้กับเจ้าของเดิม โกยกำไรนับหมื่นล้านกลับประเทศไป เป็นตัวอย่างของวิกฤตการณ์ ที่กลายเป็นทองคำมหาศาลของนักฉวยโอกาส

รับสมัครงานด่วนหลายตำแหน่ง more...
 
26 ก.พ.-1 มี.ค. 52 พบกับงานซื้อ-ขายธุรกิจครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งปี 52 งานโอกาสธุรกิจ&แฟรนไชส์ ครั้งที่ 13....
 
แบบสอบถามแฟรนไชส์ซี่ (รับสิทธิ์สมัครสมาชิกนิตยสารฯ ฟรี!! 1 ปี)
ถ้าไม่สามารถอ่านเอกสารได้
ดาวน์โหลดโปรแกรมที่นี่....
            
 
 
 

บริการงานเว็บไซค์

 

 
 
- ditto world
- music palace
- pompadour
- blink
- สังขยา กาแฟ
- big move
- โจเอลลี่ โมอีส
- จันทร์สว่าง